ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตบอร์ด-ผู้บริหาร KC และบ.ย่อยกับพวกทุจริตซื้อขายที่ดิน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (KC) และบริษัทโมเดิร์น สตรีท จำกัด (โมเดิร์น สตรีท) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และพวกรวม 7 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในข้อหาร่วมกันทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต เบียดบังทรัพย์สิน แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จากกรณีดำเนินการให้ KC และโมเดิร์น สตรีท ซื้อและขายที่ดิน 3 แปลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2559 พร้อมส่งเรื่องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

อดีตกรรมการและผู้บริหาร KC และ โมเดิร์น สตรีท ตามที่กล่าวโทษข้างต้น จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) นายกิติสาร มุขดี (2) นายสรรชัย อินทรอักษร และ (3) นายธีราสิทธิ์ แสงเงิน และพวกอีก 4 ราย ได้แก่ (4) นายวีรวัฒน์ สุขวราห์ (5) นางสาวสุภัทรา ทินเพ็ง (6) นายรัฐวุฒิ วรพันธ์ และ (7) ห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐวุฒิ (โดยนายรัฐวุฒิ วรพันธ์ หุ้นส่วนผู้จัดการ)

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบและพบธุรกรรมการซื้อและขายที่ดินของ KC และโมเดิร์น สตรีท จำนวน 3 รายการ ดังนี้

  1. นายธีราสิทธิ์ นายกิติสาร และนายสรรชัย กรรมการและผู้บริหาร KC ในขณะนั้น ได้อ้างว่า KC ขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงได้ร่วมกันอนุมัติให้ KC ขายที่ดินในจังหวัดปทุมธานีในราคา 26 ล้านบาท ให้แก่นางสาวสุภัทรา ผู้ซื้อ (ซึ่งเป็นตัวแทนของนายวีรวัฒน์) โดย KC ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อไปก่อนทั้งที่ผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระเงินเพื่อเอื้อให้มีการนำที่ดินไปจดทะเบียนขายฝากในวันเดียวกัน อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งพบเงินที่ได้จากการขายฝากที่ดินถูกเบียดบังไปเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น และบางส่วนพบว่านำไปปกปิดการกระทำผิดกรณีทุจริตเงินจากตั๋วแลกเงิน (B/E) และจากการตรวจสอบพบบุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าวมีความสัมพันธ์และรู้จักกับนายวีรวัฒน์เป็นอย่างดี ต่อมาบุคคลทั้ง 3 รายในฐานะกรรมการโมเดิร์น สตรีท ได้อนุมัติให้โมเดิร์น สตรีท ซื้อที่ดินดังกล่าวกลับคืนจากนางสาวสุภัทราในราคาเดิม โดย KC และโมเดิร์น สตรีท เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการซื้อและขายที่ดิน ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย
  2. บุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว ในฐานะกรรมการโมเดิร์น สตรีท ได้อนุมัติให้โมเดิร์น สตรีท ขายที่ดินในจังหวัดสมุทรปราการให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของราชการอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งได้ดำเนินการให้โมเดิร์น สตรีท จ่ายค่านายหน้าให้ทั้งฝั่งผู้ขายและฝั่งผู้ซื้อในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบเงินค่านายหน้าฝั่งผู้ขายไม่ได้จ่ายให้แก่ผู้เป็นนายหน้า แต่ถูกเบียดบังออกไปเพื่อประโยชน์ ของตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
  3. บุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว ได้อนุมัติให้ KC ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับบุคคลภายนอกในราคา 190 ล้านบาท โดยอ้างว่าซื้อได้ถูกกว่าราคาประเมินของราชการ แต่จากการตรวจสอบพบราคาประเมินที่อ้างดังกล่าวไม่ตรงกับที่กรมธนารักษ์ประกาศไว้ที่ประมาณ 90 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ราคาซื้อที่ดินดังกล่าวรวมเงื่อนไขให้ผู้ขายต้องทำการถมดินโดยมีข้อตกลงให้ผู้ขายที่ดินต้องว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิ (มีความเกี่ยวข้องกับนายวีรวัฒน์) เป็นผู้รับจ้างถม และกำหนดให้ KC วางมัดจำที่ดินให้ผู้ขายก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งได้จ่ายเงินค่ามัดจำเป็นเช็คจำนวน 38.5 ล้านบาท โดยมิได้ระบุสั่งจ่ายชื่อผู้ขายที่ดินแต่กลับระบุสั่งจ่ายชื่อนายสรรชัยซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการ 3 รายดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการนำไปจ่ายเงิน

จากการตรวจสอบพบว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปจ่ายค่ามัดจำหรือค่าถมดินแต่อย่างใด แต่กลับพบเอกสารยืนยันการได้รับชำระเงินค่าถมดินออกโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิโดยที่ไม่ได้รับเงินจริง และพบเงินถูกเบียดบังไปเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่นโดยนำไปไถ่ถอนการขายฝากที่ดินในจังหวัดปทุมธานี และบางส่วนนำไปปกปิดการกระทำผิดกรณีทุจริตเงินจากตั๋วแลกเงิน (B/E) ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร KC และโมเดิร์น สตรีทกับพวก รวม 7 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 และมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 ประกอบมาตรา 313 หรือมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี

ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคลทั้ง 7 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของ DSI การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top