ธ.ก.ส.แนะเกษตรกรทำประกันภัยโคนม-โคเนื้อ ป้องกันความเสี่ยงโรคลัมปีสกิน

This image has an empty alt attribute; its file name is 210664Thanarat.jpg

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพบการระบาดแล้วกว่า 62 จังหวัด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำประกันภัยผ่านโครงการประกันภัยโคนม และโครงการประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค อันเนื่องมาจากการตายของโคที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ให้สามารถพยุงตัวได้และมีทุนเหลือเพียงพอต่อการเริ่มต้นใหม่

ทั้งนี้ โครงการประกันภัยโคนม มี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้รับประกันภัย โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 810 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคนม ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว การตายจากอุบัติเหตุไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม และลมพายุไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี โดยโคนมต้องมีใบรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ อายุโคนมตั้งแต่ 18 เดือน – 8 ปี ทั้งนี้ สามารถทำประกันภัยโคนมบางตัวในฟาร์มได้

This image has an empty alt attribute; its file name is 210664Lumpeskin.jpg

ด้านโครงการประกันภัยโคเนื้อ มีบมจ. ทิพยประกันภัย (TIP) และ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (SMK) เป็นผู้รับประกันภัย โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 400 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคเนื้อ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดเมื่อส่งขายคอกกลางหรือ 6 เดือนนับจากวันขอเอาประกันภัย

โดยโคเนื้อที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการซึ่งมีผลกับสุขภาวะ และไม่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล มีอายุไม่เกิน 36 เดือน ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ และมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID คือ การเขียนที่ใบหู / RFID คือ การฝังชิบที่ใบหู) มีบันทึกประวัติถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวม (Hemorrhagic Septicemia) มาแล้วไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ขอเอาประกันภัย โดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนของโคเนื้อ

“ทั้ง 2 โครงการ ผู้ขอเอาประกันภัยต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ โดยโคที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือไม่เจ็บป่วยในช่วงระยะเวลารอคอย หรือภายในช่วง 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์เริ่มมีผลคุ้มครอง”

ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top