BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 31.25-31.70 ควันหลงเฟดชี้นำดอกเบี้ย-รอผลกนง.

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.70 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดที่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 31.44 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 31.10-31.44 บาท/ดอลลาร์ สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของทุกสกุลเงินในภูมิภาค

เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนเมื่อเทียบกับตระกร้าเงินหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มหารือเรื่องกำหนดเวลาสำหรับการลดระดับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณการของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) บ่งชี้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึง 2 ครั้ง จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2567

ทั้งนี้ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับใกล้ 0% และระบุว่าจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตร 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Securities) 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป ขณะที่เฟดต้องการเห็นความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการจ้างงาน ก่อนที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบาย

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงนโยบายตามความคาดหมายของตลาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 7,386 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 6,775 ล้านบาทตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาวันที่ 22 มิถุนายน ในหัวข้อการตอบสนองของเฟดต่อวิกฤติโควิด-19 โดยอาจเป็นโอกาสสำหรับการสื่อสารของเฟดหลัง Dot Plot ช็อคตลาด ทางด้านสัญญาล่วงหน้าดอกเบี้ยระยะสั้น Re-price ว่าเฟดอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2565 แม้ประธานเฟดระบุหลังการประชุมว่า Dot Plot อาจไม่ใช่เครื่องมือพยากรณ์ที่แม่นยำนัก

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และข้อมูลการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อนึ่ง กรุงศรีมองว่าในระยะสั้น แรงส่งเชิงบวกของค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มดำเนินต่อไป ขณะที่ตลาดปรับสถานะการลงทุนจากเดิมที่เคยเพิ่มสถานะขายดอลลาร์ไว้ค่อนข้างมากในไตรมาสนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง โดยกรุงศรีคาดว่า การปรับท่าทีของเฟดจะไม่สร้างแรงกดดันให้ กนง.ในระยะนี้ เนื่องจากไทยยังขาดแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่คาดว่าข้อมูลการค้าเดือนพฤษภาคมจะยังคงสดใสต่อเนื่อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top