วิจัยกรุงศรีคาดศก.ไทยปี 65 โต 3.7% จากปัจจัยหนุนใน-ตปท. แต่ความท้าทายยังสูง

วิจัยกรุงศรี ประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% จากปี 2564 ที่เติบโตเพียง 1.2% และมีแนวโน้มที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่ช่วยหนุนให้ไทยและหลายๆ ประเทศสามารถเปิดประเทศได้กว้างขวางขึ้น, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผลเชิงบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง, การปรับตัวของภาคธุรกิจอาจนำไปสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่, แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่ยังคงเป็นระยะแรกของการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากวิกฤตการระบาดที่ลากยาว รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและประเด็นท้าทายที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่าง โดยคาดว่าในปี 2565 จะเติบโตราว 3.6% จากการปรับดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นมาก ผนวกกับและมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัด เนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกสาขา และทุกกลุ่มรายได้ จึงคาดว่าจะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ด้านภาคส่งออก แม้จะชะลอลงบ้างแต่คาดว่ายังเติบโตได้ 5.0% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.9% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป จากผลการศึกษาของ ADB ประเมินว่า RCEP จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ภายในปี 2573 ซึ่งแม้เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่สูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน

ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นเป็น 4.6% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน อีกทั้งยังมีการขยายการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) และการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 2562 (ช่วงก่อนเกิดการระบาด)

นอกจากนี้ การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 2565-2569)

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลง จากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แต่ยังมีวงเงินกู้ที่เหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของภาคท่องเที่ยวยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ทางการไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจยังมีข้อจำกัดท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 เป็นผลให้หลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ยังคงมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 คาดว่า จะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2568 ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่า คือในปี 2567 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป

วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ผลพวงของวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดยาวนาน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นชั่วคราว โดยมีแนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 1/2565 จากผลของฐานที่ต่ำ และการส่งผ่านของต้นทุน แต่คาดว่าจะชะลอลง และกลับมาแตะระดับใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ตามการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อาทิ ความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการกลายพันธุ์กระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ความเปราะบางของตลาดแรงงาน และปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ผลข้างเคียงจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศแกนหลัก ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงิน ภาวะข้อจำกัดด้านอุปทานโลกที่อาจเป็นปัญหายืดเยื้อไปอีกระยะ ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

ส่วนในปี 2564 ที่ผ่านมา การระบาดหลายระลอกและมีความรุนแรงส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้า โดยการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นับตั้งแต่ปลายปี 2563 และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แผ่ลามเป็นวงกว้างในไทยช่วงไตรมาสสามของปี 2564 ส่งผลให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถูกจำกัดภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ การระบาดยังกระจายไปสู่ภาคธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในสายการผลิตในบางภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก การระบาดในประเทศคลี่คลายลง มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่เข้มงวด กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ ส่วนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในช่วงปลายปีกลับมาสร้างความกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 จึงมีแนวโน้มเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 1.2% จากที่หดตัวรุนแรงในปี 2563 ที่หดตัว -6.1%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top