รายงานกนง. ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง จับตาผลกระทบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.64 ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง”

รายงาน กนง.ระบุ

คณะกรรมการ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยกลับมามากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การจ้างงานและรายได้แรงงานยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด

สำหรับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะแผ่วลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 6 ล้านคนเป็น 5.6 ล้านคน จากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงแรกของปี

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศแต่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบของการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยในปี 2564 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ

“คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ในกรณีฐานคาดว่าจะยังไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยืดเยื้อกว่าคาดได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาด และความเข้มงวดของมาตรการควบคุม”

รายงาน กนง.ระบุ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจรุนแรงขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญในปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

สำหรับในระยะปานกลาง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมแบบบูรณาการ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือนโยบายการเงินต่าง ๆ ในการชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อสอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันสะท้อนการประเมินความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าความเสี่ยงด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับปกติและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินควรต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อหรือต่อเสถียรภาพระบบการเงินปรับสูงขึ้น ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบของนโยบายในระยะปานกลางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top