TKC เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 18 บาท เปิดจอง 7,10–11 ม.ค.เข้าเทรด 17 ม.ค.

นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บล.คิงส์ฟอร์ด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC) เปิดเผยว่า TKC กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 78 ล้านหุ้น ที่ราคา 18.00 บาท/หุ้น เปิดให้จองซื้อในวันที่ 7, 10-11 ม.ค.65 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 17 ม.ค.65 ในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอุตสาหกรรม ในชื่อย่อ TKC

สำหรับราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 18.00 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 17.54 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64)

และล่าสุด TKC ได้ลงนามแต่งตั้ง บล.คิงส์ฟอร์ด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมด้วยผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 2 แห่ง คือ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และ บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์

นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ TKC เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ราว 1,404 ล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เช่น โครงการเกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม ระบบโครงข่ายสื่อสัญญาณ(Transmission Networks) ระบบศูนย์ข้อมูลหลัก ศูนย์ข้อมูลสำรอง ระบบคลาวด์ Smart Solutions ระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลและระบบตรวจสอบเฝ้าระวัง และการบริหารความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Security) รวมถึงงานบริการเพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง เป็นต้น ภายในปี 65-66

ทั้งนี้ บริษัทวางกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที มุ่งเน้นธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต เช่น ธุรกิจระบบ Smart Solutions, Smart Logistics ธุรกิจ Cyber Security โฟกัสที่อินฟราสตรัคเจอร์ ระบบคลาวด์แบบไฮบริด อุปกรณ์โดรน ที่เกี่ยวกับสมาร์ทฟาร์มมิ่ง โดรนที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ทำแผนที่ โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้นำด้านเหล่านี้ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า

นายสยาม กล่าวอีกว่า การเข้าจดทะเบียนใน SET ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ TKC มีศักยภาพและความพร้อมสูงในการเติบโตรองรับความต้องการของลูกค้า โดยคาดว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะขยายตัวรับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในเรื่อง Thailand 4.0 เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และการก่อสร้างระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ข้อมูล Non-Voice ที่ขยายตัวจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ และรายได้จากธุรกิจ Fixed Broadband ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น บริการ Cloud Data Center ยานยนต์ไร้คนขับ และ Smart Solutions ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้การใช้ธุรกรรมออนไลน์ การเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยใช้ Cloud การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการด้าน Cyber Security มากขึ้นเพื่อป้องกันข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์

TKC ดำเนินธุรกิจให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบงานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และ ระบบความปลอดภัยสาธารณะ โดยบริษัทเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และเครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก เช่น Huawei, Nokia, Cisco, Verint, Oracle, Netka System, XOVIS, Fortinet เป็นต้น ให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ประกอบกับ ประเทศไทยเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจอยู่ในเทรนด์การเติบโต โดยโครงสร้างรายได้ในงวด 9 เดือนแรกปี 64 มาจากงานโครงการมากกว่า 64% รายได้จากงานบริการและบำรุงรักษากว่า 35% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานจัดจำหน่าย

ด้านนางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ความน่าสนใจของ TKC มีจุดแข็งและกลยุทธ์ในความเชี่ยวชาญตลอดระยะเวลามากกว่า 18 ปี ที่บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนา ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การทำงานด้านรับเหมาการสื่อสารและโทรคมนาคม ทำให้เข้าใจอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอนาคต มีระบบการควบคุมบริหารจัดการแต่ละส่วนงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้จากการเป็นผู้รับเหมามาก่อนทำให้บริหารต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่ง และการมีทีมวิศวกร In-House ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ทำให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้ทั้งในแง่ความสามารถในการบริการและราคา รวมถึงมีการดูแลและการให้บริการหลังการขายที่สร้างความพึงพอใจและความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น ไว้ใจและใช้บริการต่อเนื่อง

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G ตามความต้องการใช้งานทางด้าน IoT AI ระบบคลาวด์ และโซลูชั่นส์อัจฉริยะต่างๆ เป็นต้น เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต

สำหรับผลประกอบการช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (61-63) บริษัทมีรายได้รวม 3,669.65 ล้านบาท 4,907.25 ล้านบาท และ 2,881.92 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 216.50 ล้านบาท 423.03 ล้านบาท และ 232.85 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 5.90% 8.62% และ 8.09% ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนที่ดีทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 64 มีรายได้รวม 1,835.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 20.06% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสัดส่วน 99.86% เป็นรายได้จากการขายและให้บริการ และร้อยละ 0.14 เป็นรายได้อื่น มีกำไรสุทธิ 191.07 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 10.41%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top