รมว.แรงงาน เตรียมเสนอครม.ปรับเงื่อนไขโครงการช่วย SMEs พลาดสิทธิรับเงินอุดหนุน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เชิญชวนนายจ้างภาคเอกชนที่มีกิจการขนาดเล็ก-กลางเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 ด้วยมีเป้าหมายช่วยเหลือนายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กลับมาแข็งแรงประสบผลสำเร็จดั่งในอดีตก่อนมีโรคโควิด-19

ผลการลงทะเบียนในทุกรอบมีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 246,099 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,274,018 คน แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องทุกข์จากนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านสำนักงานจัดหางานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 2564 เพราะไม่ได้ส่งข้อมูลเงินสมทบฯ ผ่านระบบ e – Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในกำหนด เพื่อขอให้ทบทวนเงื่อนไขดังกล่าว ให้ได้รับเงินอุดหนุนบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่ของสายพันธ์โอมิครอน

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี กิจการเล็กๆ หลายแห่ง ยังมีความไม่เข้าใจเงื่อนไขและขั้นตอนการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแต่อย่างใด”

ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้ปรับเงื่อนไขโครงการเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มกราคม 65 และจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 11 มกราคม 65 เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่เสียสิทธิไป มีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 64 และมกราคม 65 ดังนี้

1. นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการหากเคยนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่เดือนมกราคม 64 จนถึงก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 64 จะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค. 64-ม.ค. 65)

2. นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการแต่มีการนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม หลังวันที่ 15 ธันวาคม 64 ที่ได้นำส่งข้อมูลฯ ภายในวันที่ 17 มกราคม 65 จึงจะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค. 64 – ม.ค. 65)

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสมัครใช้งาน e-Service และนำส่งข้อมูลเงินสมทบ ผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม เป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ในงวดเงินสมทบเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า มีนายจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว และได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 194,977 แห่ง เป็นลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 2,904,414 คน เป็นเงินอุดหนุน จำนวน 8,713,242,000 บาท และมีนายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำส่งข้อมูลเงินสมทบฯ และไม่ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 49,117 แห่ง ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 380,574 คน

ข้อมูลย้อนหลัง 10 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค. -ต.ค. 64 มีนายจ้างใช้บริการ e-Service เพียง 19,284 ราย ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 64 ที่กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐ เพียงเดือนเดียวมีการส่งข้อมูลผ่าน e-Service ถึง 194,997 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็น 10.11 เท่าของที่ผ่านมา ถือว่าสอดคล้องตามวัตถุประสงค์โครงการฯทั้งด้านการช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดเล็ก-กลาง และการปรับเปลี่ยนการใช้บริการภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

“หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องร่วมมือปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยลงทะเบียนสมัครใช้บริการระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม เมื่อสมัครแล้วจะต้องนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 17 มกราคม 65 เพื่อให้ตนเองมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย ที่สำคัญต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หรือห้ามเลิกจ้างพนักงานเกิน 5% จึงจะได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น”

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top