สทนช. เร่งขับเคลื่อน 9 มาตรการป้องกันภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 64/65

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.จัดประชุมผ่านระบบทางไกลชี้แจง 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 และสรุปความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 ตามที่ สทนช.ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 ประกอบด้วย

  1. เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท
  2. จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
  3. ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม
  4. กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง
  5. วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
  6. เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)
  7. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก-สายรอง
  8. ติดตามและประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน
  9. สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้ทันที

ทั้งนี้ สทนช.จะมีการกำกับติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงาน ครม.ต่อไป

เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 36,194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของความจุ โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,089 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 61% ของความจุ ในจำนวนนี้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่งที่เฝ้าระวังน้ำน้อย ซึ่งต้องมีการติดตามการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่จาง และเขื่อนสิริกิติ์ ขณะที่การติดตามคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในแม่น้ำสายหลักภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำแม่กลองที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง

“แม้ในภาพรวมสถานการณ์น้ำต้นทุนในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างมาก แต่ยังคงต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อน้ำต้นทุนในอนาคต ขณะที่บางพื้นที่ที่มีการคาดการณ์เสี่ยงขาดน้ำล่วงหน้าแล้ว สทนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคที่ต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า รวมถึงการรณรงค์การทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรในการลงทุนแล้วอาจเสียหายได้ โดยเฉพาะการทำนาปรังรอบสองในลุ่มเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำต้นทุนจำกัดในช่วงแล้งนี้ด้วยเช่นกัน”

นายสุรสีห์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top