กรมวิทย์ฯ ยันวัคซีน 2 เข็มป้องกันโอมิครอนได้น้อย แนะฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนสลับ และวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ในภาพรวมพบว่า ภูมิคุ้มกันในเลือดลดลงเมื่อเจอกับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาทั่วโลกที่ระบุว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะลดลงเมื่อเจอกับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน โดยผลการทดสอบวัคซีนทั้ง 8 สูตรที่ใช้ในประเทศไทย (n=10) มีดังนี้

1. ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 201.90, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน=11.63

2. ไฟเซอร์+ไฟเซอร์ : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 189.40, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน= 19.17

3. แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 388.20, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน=21.21

4. ซิโนแวค+ไฟเซอร์ : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 581.10, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน=21.70

5. แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 226.90, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน= 23.81

6. ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 368.10, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน= 71.64

7. แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 691.10, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน=229.90

8. ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์ : มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเดลตา= 729.30, มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน=282.50

สำหรับข้อมูลนี้เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเวลาที่ภูมิคุ้มกันขึ้นมาค่อนข้างดี โดยเป็นการหาระดับภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibody) ต่อเชื้อไวรัสจริงในห้องปฏิบัติการ BSL-3 โดยวิธี PRNT: Plaque Reduction Neutralization Test วัคซีนทุกสูตรทำให้ภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ ต่อเชื้อโอมิครอนลดลง แต่การฉีดเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันไวรัสโอมิครอนได้ดี แต่การคงอยู่ของระดับภูมิคุ้มกันต้องติดตามตรวจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี วัคซีนทุกสูตรยังช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วยในทุกสายพันธุ์ ในสนามจริง (real world) และการฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น (booster dose) เพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอที่จะลดการแพร่การติดเชื้อ และการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มากขึ้น

“การทดสอบภูมิคุ้มกันในครั้งนี้ทดสอบจากเลือดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลไกในการป้องกันเชื้อโรคในร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีเพียงในน้ำเลือดเท่านั้น ต้องอาศัยเซลล์เม็ดเลือดขาวต่างๆ ในร่างกายด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นอกจากนี้ กรมวิทย์ฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และหาตัวอย่างเลือดของสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ และอยู่ระหว่างการศึกษาว่า กรณีที่มีการติดเชื้อโอมิครอนแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันเดลตาหรือไม่

“อย่าเอาตัวเลขการทดลองของ รพ.ศิริราช กับของกรมวิทย์ฯ ไปเปรียบเทียบกัน เนื่องจากใช้วิธีทดสอบคนละแบบ อย่างไรก็ดี จากการทดสอบจะเห็นได้ว่าวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันโอมิครอนได้น้อยมาก ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็ม 3 จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มภูมิเพื่อต่อสู่กับโอมิครอน จึงขอให้ประชาชนรีบไปรับวัคซีนเข็ม 3 ตามสถานบริการโดยเร็ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ว่า การตรวจ ATK แล้วเห็นว่าขีดมีสีเข้มจางต่างกันนั้น สามารถบอกถึงปริมาณของเชื้อได้ในเบื้องต้น ถ้าโปรตีนของเชื้อมีจำนวนมากก็จะขึ้นสีเข้มมาก อย่างไรก็ตาม การวัดปริมาณออกมาเป็นจำนวนนั้นทำได้ค่อนข้างยาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top