ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ PTG ชุดใหม่ 1.2 พันลบ.ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 3 ปีของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้บางส่วน

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดย ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเครือข่ายสถานีบริการถึง 2,142 แห่งซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมัน 1,925 แห่ง สถานีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 80 แห่ง และสถานีบริการแบบผสมอีก 137 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังคงสถานะเป็นผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับสองในแง่ของเครือข่ายและปริมาณการขายผ่านสถานีบริการอีกด้วย โดยเป็นรอง บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้นำตลาด ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวม

โดยทริสเรทติ้งพบว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของบริษัทอยู่ที่ 17.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) จะยังคงยืดเยื้อ แต่บริษัทก็ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าทำให้รัฐบาลไทยต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) อีกครั้งและทำให้ยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการภายในประเทศโดยรวมลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การแพร่ระบาดทำให้อุปสงค์ในการใช้น้ำมันลดลงถึง 19.3% เฉพาะในไตรมาสที่ 3 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถทำยอดขายได้ถึง 3.7 พันล้านลิตรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ระดับ 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 25.4% เป็น 9.62 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 4.3 พันล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 78% และอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ระดับ 5 เท่า โดยอัตราส่วนทั้งสองสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการกลับมาของกิจกรรมการท่องเที่ยวอีก อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 ล่าสุดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นและส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปอีก นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและราคาน้ำมันที่ผันผวนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกด้วย

เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงยืดเยื้อ บริษัทจึงได้ปรับลดเป้าหมายการขยายสถานีบริการใหม่และการขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันลงด้วยการลดขนาดการลงทุน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะกลับมาขยายธุรกิจอีกในระยะยาวเมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่น่าเชื่อมั่นมากกว่านี้

จากข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 6.5 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 3.2 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 1.3 พันล้านบาท และหุ้นกู้อีกจำนวน 1.4 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องทำการระดมทุนใหม่ (รีไฟแนนซ์) เพื่อนำเงินไปใช้ชำระหนี้ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนแผนการลงทุนของบริษัท ซึ่งทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์นั้นอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้เมื่อพิจารณาจากโอกาสทางธุรกิจของบริษัท

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้ที่เป็นเงินกู้ธนาคารและหุ้นกู้จำนวน 1.07 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวนประมาณ 3.6 พันล้านบาทที่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 33% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้งนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่ได้มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกชำระหนี้คืนจากสินทรัพย์ของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันด้วยการมีแผนธุรกิจที่มีความรอบคอบ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าระดับหนี้สินทางการเงินและระดับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทนั้นจะยังคงอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถทำให้สถานะทางการตลาดมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้ในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นอย่างมากจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทมีการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top