คลัง เล็งขยาย “คนละครึ่ง” เป็น 3 เดือน,ศึกษาลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์แก้หมูแพง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การปรับเวลาโครงการคนละครึ่งเฟส 4 จากเดิมจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 65 มาเป็นลงทะเบียนยืนยันตัวตนในวันที่14 ก.พ.และเริ่มใช้วงเงินได้ 21 ก.พ.65 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาสินค้าแพง ถือว่าเป็นไม่ได้ช้าเกินไป เนื่องจากต้องมีการขั้นตอนที่เตรียมการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปฏิบัติมาภายหลัง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังไม่สามารถนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้ได้ทัน เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเรื่องการใช้วงเงินก่อน โดยโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาทที่จะต้องให้ สศช.เห็นชอบก่อน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าอาจเพิ่มระยะเวลาดำเนินโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 เป็น 3 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 เดือน รวมถึงหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขการดำเนินโครงการทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ในหลักการต้องพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยรายละเอียดทั้งหมดยังต้องรอสรุปให้เรียบร้อยก่อน

“ไม่อยากให้มองว่าโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 จะให้เงินมากขึ้น หรือน้อยลง เพราะหากพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว สถานการณ์ยังอ่อนไหว ก็มีความเป็นไปได้ที่ระยะเวลาดำเนินโครงการจะมากเดือนขึ้น แต่หากเศรษฐกิจเริ่มแข็งแรงขึ้น โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ระยะเวลาดำเนินโครงการก็อาจจะลดลง ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นได้ โดยหากระยะเวลาโครงการมากขึ้น วงเงินที่ใช้ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว รายละเอียดทั้งหมดกำลังประชุมกันอยู่ ต้องรอสรุปอีกที”

 นายสันติ กล่าว

พร้อมมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ มาตรการที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุด คือการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการผ่านมาตรการคนละครึ่ง มีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 28 ล้านคน ช่วยให้การบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะในระดับฐานรากดีขึ้น

นอกจากนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาถึงความจำเป็นเกี่ยวกับการลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ โดยได้มอบหมายให้พิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงพิจารณาทางเลือกอื่นด้วย เช่น ตรวจสอบว่ามีการกักตุนอาหารสัตว์ภายในประเทศหรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่าไม่มีการกักตุน ทุกอย่างเป็นสถานการณ์จริง การนำเข้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ ก็มีความจำเป็น

“เดิมไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก WTO อยู่แล้ว แต่หากมีการนำเข้ามากขึ้น ก็จะต้องเสียภาษีไปตามระบบ ได้กำชับให้กรมศุลกากรไปพิจาณราอย่างรอบคอบ หากมีการนำเข้าจริงจะต้องไม่กระทบกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วเหลือง ต้องพิจารณาให้ทุกส่วนสมดุลกันมากที่สุด”

 รมช.คลัง กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top