CIVIL เคาะราคาขาย IPO ที่ 4.60 บ./หุ้นเปิดจอง 19-21 ม.ค.คาดเทรด 27 ม.ค.

บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ที่ 4.60 บาท/หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท/หุ้น โดยนักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้น IPO ได้ระหว่างวันที่ 19 -21 ม.ค.65 โดยแต่งตั้ง บล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อม บล.กรุงไทย ซีมิโก้ เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO คาดว่าจะนำหุ้น CIVIL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ราววันที่ 27 ม.ค.65

การเสนอขาย IPO ครั้งนี้บริษัทจะเสนอขาย IPO จำนวน 200 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยสัดส่วนการเสนอขาย IPO ตามกลุ่มนักลงทุนที่จะมีการจัดสรรนั้น แบ่งเป็น กลุ่มนักลงทุนสถาบันและนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ สัดส่วน 60% กลุ่มบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สัดส่วน 19.07% ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สัดส่วน 15% กรรมการ และ/หรือ ผู้บริหาร ของบริษัท สัดส่วน 4.35% และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อย สัดส่วน 1.58%

สำหรับวัตถุประสงค์ของการนำเงินที่ได้จาก IPO ในครั้งไปใช้ ประกอบด้วย เงินทุนสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในโครงการก่อสร้าง 442-530 ล้านบาท นำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 177 – 265 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 88.4 – 264.4 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับระยะเวลาการใช้เงินจาก IPO ในช่วงปี 65-66

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ CIVIL กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลแผนดำเนินงานและศักยภาพการเติบโตของ CIVIL ต่อกลุ่มนักลงทุนสถาบันได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจาก CIVIL มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมายาวนาน ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นสูงและความโดดเด่นด้านบริหารต้นทุนโครงการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนบริหารจัดการในหลายมิติ

รวมถึงมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเป็นของตนเอง ช่วยเสริมสร้างโอกาสเติบโตจากการรับบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเพิ่มขึ้นและต่อยอดขยายฐานลูกค้าภาคเอกชน พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายธุรกิจวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ สร้างความมั่นคงของรายได้และผลักดันการทำกำไรขั้นต้นและอัตราการทำกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIVIL กล่าวว่า CIVIL เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาและงานก่อสร้างแบบครบวงจร ที่มีประสบการณ์ความชำนาญมากกว่า 50 ปี จากการพัฒนาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศมากกว่า 1,000 โครงการ ส่งผลให้ในปัจจุบัน CIVIL มีมูลค่าสัญญางานโครงการก่อสร้างที่รอส่งมอบ (Backlog) ราว 16,873 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายใน 3 ปี แบ่งเป็นงานถนน 6,165 ล้านบาท ทางรถไฟ 8,387 ล้านบาท ท่าอากาศยาน 444 ล้านบาท เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 1,140 ล้านบาท และงานอื่น ๆ อีกราว 739 ล้านบาท

“CIVIL พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเสริมขีดความสามารถการแข่งขันในทุกด้าน เช่น นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยวางแผน ติดตามและวิเคราะห์ต้นทุนก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ พร้อมใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงการ ทำให้เกิด Economy of Speed ลดระยะเวลาและต้นทุนดำเนินโครงการ พร้อมใช้เทคโนโลยีและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยช่วยบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสเข้าบริหารงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากภาครัฐเพิ่มเติม ทั้งรูปแบบเข้าประมูลโครงการและจับมือพันธมิตรธุรกิจเพื่อร่วมบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านกระแสเงินสดให้แก่การดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

 นายปิยะดิษฐ์กล่าว

รวมไปถึงบริษัทยังต่อยอดธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างไปสู่ลูกค้าภาคเอกชนมากขึ้น คาดว่าสัดส่วนรายได้จากงานภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 20% ภายใน 3-4 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5% ด้วยการสร้างโอกาสรับงานบริหารโครงการที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนการบริหารโครงการก่อสร้างให้สูงขึ้น และพร้อมขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตอบสนองต่อความต้องการอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขยายตัวและสร้างสมดุลของรายได้ให้แก่การดำเนินธุรกิจของ CIVIL

สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง บริษัทมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัสดุส่วนก่อสร้าง 11 แห่ง ผลิตวัสดุทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ โรงงานชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป, คอนกรีตผสมเสร็จ, แอสฟัลท์ติกคอนกรีต, คอนกรีตอัดแรง และราวเหล็กลูกฟูกกันรถและท่อระบายน้ำ ทำให้ CIVIL มีความได้เปรียบเชิงบริหารต้นทุนโครงการก่อสร้างที่ดี รวมไปถึงสร้างโอกาสเติบโตที่ดีจากการจำหน่ายชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างให้แก่คู่ค้าของบริษัท และอีกหนึ่งธุรกิจอย่าการให้บริการอสังหาริมทรัพย์และให้เช่าเครื่องมือเครื่องจักร ที่ให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและเครื่องมือเครื่องจักร ก็ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้อีกช่องทางหนึ่ง และช่วยให้พันธมิตรทางธุรกิจร่วมเติบโตไปด้วยกัน สอดคล้องกระแส Sharing Economy ของโลก

นายโกวิท เนื่องสุข ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน CIVIL กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 62-63 ประสบความสำเร็จในการผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 3,210 ล้านบาทในปี 62 และเพิ่มเป็น 4,130 ล้านบาทในปี 63 ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้รวม 3,736 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีรายได้รวม 2,999 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมากกว่า 90% ของรายได้รวม ซึ่งมีอัตราขยายตัวอย่างโดดเด่นจาก 2,950 ล้านบาทในปี 62 เพิ่มเป็น 3,752 ล้านบาทในปี 63 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 รายได้จากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ 3,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,719 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 30%

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นและอัตราการทำกำไรสุทธิในกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของ CIVIL สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 14.60% ในปี 62 และ 9.28% ในปี 63 ส่วน 9 เดือนแรกปี 64 อยู่ที่ 11.08% ส่วนกำไรสุทธิในปี 62 อยู่ที่ 141 ล้านบาท และ 87 ล้านบาทในปี 63 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 170 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.38%, 2.10% และ 4.56% ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top