CONSENSUS: โบรกฯเชียร์”ซื้อ” BCPG ขยายสู่ธุรกิจแบตเตอรี่-EV,โรงไฟฟ้าในตปท.ทยอย COD หนุนปี 65 โต

โบรกเกอร์แนะซื้อหุ้นบมจ.บีซีพีจี (BCPG) มองการเติบโตในปี 65 จะมาจากการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังาน, ธุรกิจ EV Charging และ ธุรกิจ Smart City Planning ซึ่งจะเป็น New S Curve ของ BCPG อีกทั้งยังขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไต้หวัน มองว่าหากมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว จะเพิ่มอัพไซด์ให้แก่ราคาหุ้น

ในปี 65 บริษัทจะมีโรงไฟฟ้าที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ อีกประมาณ 49 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ กำลังการผลิต 25 MW, โรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ยาบูกิ กำลังการผลิต 20 MW และ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 MW

ปิดเที่ยงราคาอยู่ที่ 12.00 บาท ลดลง 0.10 บาท(-0.83%) ขณะที่ดัชนี SET ลบ 0.13%

โบรกเกอร์คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
หยวนต้า   ซื้อ18.30
เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ ซื้อ16.70
กสิกรไทย  ซื้อ 17.00
เอเชีย พลัส ซื้อ16.30
เคจีไอ ซื้อ16.90
คันทรี่กรุ๊ป  ซื้อ16.50

นายธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มองแนวโน้มกำไรปกติ ไตรมาส 4/64 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้ผ่านพ้นช่วงไฮซีซั่นของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวไปแล้ว และแม้ว่าบริษัทจะมีการรับรู้รายบได้จากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาเพิ่มเติม แต่สัดส่วนรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้นค่อนข้างสูง จึงทำให้การ COD ไม่ได้ชดเชยกับปัจจัยทางฤดูกาลดังกล่าว

ขณะที่ในปี 65 เบื้องต้นประมาณการณ์กำไรจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 64 หรือคาดอยู่ที่ 2,213 ล้านบาท จากปีก่อนคาดอยู่ที่ 2,224 ล้านบาท จาก Adder บางส่วนที่หมดอายุลงไป ส่งผลทำให้อัตรากำไรปรับตัวลง แต่อย่างไรก็ตาม BCPG ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ จากเป็นบริษัทที่ได้มีการลงทุนเพื่อก้าวออกจากโรงไฟฟ้าไปบางส่วนแล้ว เช่นที่ผ่านมาได้มีการลงทุนในบริษัท VRB Energy Inc. (VRB) ซึ่งเป็นบริษัท Holding Company จัดตั้งขึ้นในหมู่เกาะเคย์แมน และมีบริษัทย่อยในสาธารณรัฐประชาชนจีนประกอบด้วยธุรกิจวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงาน ประเภท Vanadium Redox Flow เพื่อขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่)

ทั้งนี้แบตเตอรี่ ประเภท Vanadium Redox Flow ถือเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ และมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แล้วในประเทศจีน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของจีนที่ประกาศว่าทุกโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะต้องมี Battery Grid เพื่อซัพพอร์ตประสิทธิภาพการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้จะเป็นผลบวกของ VRB Energy ที่อยู่ในจีน

นอกจากนี้ BCPG ยังมีการประกาศตั้งบริษัทย่อยในไต้หวัน ในช่วงไตรมาส 4/64 ที่ผ่านมา โดยมองว่าไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างสูง และมีเป้าหมายที่ให้ประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็น 20% ของทั้งหมดภายในปี 68 ภาครัฐจึงมีการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างๆ เพื่อตั้งโรงไฟฟ้าในประเทศ ขณะเดียวกันบริษัท ก็อยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าในไต้หวัน 4-8 โครงการ กำลังการผลิต 170 เมกะวัตต์ (MW) เบื้องต้นค่าไฟฟ้าน่าจะอยู่ราว 5.20-5.60 บาท และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ราว 20 ปี คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังไม่ถูกรวมไว้ในประมาณการณ์ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า และค่าไฟฟ้า หากทำได้จะเป็นอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมายของฝ่ายวิเคราะห์ฯ

บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในแบตเตอรี่เพิ่มเติม เช่น แบตเตอรี่ริเธียม ไอออน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อาจจะเป็นการลงทุนร่วมกับบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP)

ยังแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายที่ 18.30 บาท หากโครงการโรงไฟฟ้าในไต้หวันมีความชัดเจน คาดจะเป็นอัพไซด์ต่อราคาดังกล่าว

บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการลดภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยภาครัฐ จะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยปัจจุบัน BCPG มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ COD แล้ว 503.1 MW และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 470.9 MW คิด เป็นกำลังการผลิตรวม 974 MW โดยในปี 65 จะมีโรงไฟฟ้าที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ อีกประมาณ 49 MW ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ กำลังการผลิต 25 MW (คาดเริ่มจ่ายไฟฟ้าภายในครึ่งปีแรก) , โรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ยาบูกิ กำลังการผลิต 20 MW (คาดเริ่มจ่ายไฟฟ้าภายในครึ่งปีแรก) และ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบน หลังคามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 MW (คาดเริ่มจ่ายไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้)

พร้อมกันนี้ BCPG ตั้งงบลงทุน (CAPEX) ปี 65 ที่ 27,000-44,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในต่างประเทศ โดยจะเน้นการทำ M&A บริษัทมองประเทศไต้หวันเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นอกเหนือจากนั้นบริษัทยังได้ขยายการลงทุน เข้าไปยังธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังาน, ธุรกิจ EV Charging และ ธุรกิจ Smart City Planning โดยวางงบลงทุนไว้ประมาณ 9,000 ล้านบาท

โดยมองการเติบโตในระยะถัดไปของ BCPG จะมาจากการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในต่างประเทศ โดยจะเน้น การทำ M&A เป็นหลัก ในส่วนของธุรกิจ New S Curve บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ทั้ง ธุรกิจแบตเตอรี่กัก เก็บพลังาน, ธุรกิจ EV Charging และ ธุรกิจ Smart City Planning

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า BCPG รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าบอร์ดบริหารของบริษัทฯ มีมติให้ BCPG Indochina Company Limited (BIC) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยที่ BCPG ถือหุ้นทั้งหมด สามารถเข้าซื้อหุ้นสามัญ 25% ของบริษัท Nam Tai Power Sole จำกัด (Nam Tai) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนใน สปป. ลาว จากบริษัท Phongsubthavy Group Sole จำกัด (PSG) เป็นจำนวนเงินรวมไม่เกิน 32 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ จากการลงทุนใน Nam Tai บริษัทฯ จะได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจในการพัฒนาและ ดำเนินการระบบสายส่งไฟฟ้า 220 กิโลวัตต์ (KV) จำนวน 50% และสถานีย่อยจากโครงการ Nam San 3B ใน สปป. ลาว เพื่อเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ที่ชายแดนลาวและเวียดนาม

มองประโยชน์จากข้อตกลงนี้ 1. จะจัดหาโครงสร้างพื้นฐานในการส่งไฟฟ้าสำหรับ โครงการ Nam San 3B ซึ่งจะช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับ EVN จากปัจจุบันที่ขายให้กับ EDL ซึ่งจะช่วยให้ได้รับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น 2. ขยายสู่ธุรกิจสายส่งไฟฟ้าจากปัจจุบันที่เน้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ เพิ่มเติมจากอัตราค่าบริการในการใช้ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) จากผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ต้องการจ่ายไฟฟ้าให้กับ EVN ระบบสายส่งไฟฟ้าระยะทาง 79 กิโลเมตร จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 800 MW และ 3. สร้างกำไรสุทธิเพิ่มเติม โดยคาดว่าการลงทุนนี้จะสร้างกำไรที่ 16-23 ล้านบาท โดยอิงจากความต้องการ ใช้ระบบส่งไฟฟ้าสูงสุด 600-800 MW โครงการนี้ได้รับเงินทุนเต็มจำนวนจากกระแสเงินสด ภายในและ PIRR ที่ 8 เราจึงปรับเพิ่มประมาณการก่ไรสุทธิปี 66-68 ขึ้น 1%, 2%, 1% เป็น 1.7 พันล้านบาท, 1.2 พันล้านบาท, 1.8 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนการลงทุนนี้

แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/64 คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งการเดิบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน น่าจะมาจากการขยายกำลังการผลิตจากการเริ่มต้นผลิต โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชิบะ 1 ขนาด 27 MW ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนพ.ย. ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 552 MW ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงจากไตรมาส 3/64 เนื่องจากปกติไตมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงคาดว่าอัตราการจ่ายไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 57% ในไตรมาส 4/64 จาก 85% ในไตรมาส 3/64

คงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายที่ 17.00 บาท คาดว่าเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน ในไตรมาส 4/63 จะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในระยะยาว ฝ่ายบริหารวางแผนที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 4.5-4.6 หมื่นล้านบาท ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าที่นอกเหนือจากที่กำลังพัฒนาและรองรับแผนที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายแบบ S-Curve ใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top