พรีเมียร์ แทงค์ฯ คาดเข้าเทรด Q1/65 วางเป้ารายได้ปีนี้โต-เล็งแตกไลน์โรงไฟฟ้า

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.พรีเมียร์ แทงค์ คอร์ปอเรชั่น (PTC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการนับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) เพื่อเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเสนอขายหุ้น IPO โดยคาดว่าจะสามารถนำ PTC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ภายในไตรมาสแรกปีนี้

ทั้งนี้ PTC มีจุดแข็งจากประสบการณ์ด้านการประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและรถขนส่งน้ำมันมากว่า 20 ปี ทำให้ผู้บริหารของ PTC มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการสายโซ่อุปทานของผู้ค้าน้ำมันในประเทศไทยเป็นอย่างดี ส่งผลให้สามารถกำหนดที่ตั้งในการก่อสร้างคลังน้ำมันเพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันสู่สถานบริการและผู้ใช้งาน ซึ่งพื้นที่ให้บริการปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนปริมาณจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดเบนซินและดีเซลเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากเขตกรุงเทพและปริมณฑล อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้

PTC มีทุนจดทะเบียน 205 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 150 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 110 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

นายวีรวัฒน์ บูรพพัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTC กล่าวว่า บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน เสริมความมั่นคงทางการเงินและเพิ่มอัตรากำไรสุทธิด้วยดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะก่อสร้างจุดรับน้ำมันทางรถไฟที่คลังศรีสะเกษ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในด้านการลดต้นทุนการขนส่งน้ำมันของลูกค้า ด้วยการเพิ่มช่องทางการขนส่งน้ำมันให้แก่ลูกค้า นอกเหนือจากการให้บริการการรับน้ำมันทางรถบรรทุกเพียงทางเดียว เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยวางงบลงทุนไว้ราว 110-120 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายใน 6 เดือน

สำหรับแนวทางการเติบโตของบริษัท ประกอบด้วย

  1. การเสนอบริการให้แก่ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น โดยคลังศรีสะเกษ ถือเป็นระบบ Blending มีโอกาสเพิ่มลูกค้าจากผู้ค้าน้ำมันรายอื่น และคลังขอนแก่น ก็มีพื้นที่เหลือ สามารถเพิ่มถังเก็บน้ำมันและเพิ่มระบบผสมน้ำมันได้ หรือเปลี่ยนดีไซต์คลังเป็นระบบ Blending
  2. การให้บริการเก็บสินค้าอื่น เช่น เอทานอล หรือสารเคมีต่างๆ อีกทั้งยังมีแผนก่อสร้างจุดรับน้ำมันทางรถไฟที่คลังศรีสะเกษ
  3. การขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากปัจจุบันมีการพึ่งพิงลูกค้ารายเดียว คือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
  4. การขยายสู่ธุรกิจอื่น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปด้ในการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อขยายฐานรายได้และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้ทางเดียว

ส่วนการเติบโตของรายได้ในปี 65 คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้จากการให้เช่าและบริการรับ เก็บ และจ่ายน้ำมันในปี 61 จากคลังน้ำมัน ขอนแก่นเพียงแห่งเดียว 161.97 ล้านบาท และต่อมาในปี 62 มีรายได้ 176.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.19% และปี 63 มีรายได้ 253.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.29% โดยช่วงปี 62-63 รายได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดคลังศรีสะเกษในเดือน ก.ค.62

ขณะที่กำไรสุทธิในปี 61-63 ทำได้ 75.42 ล้านบาท, 55.43 ล้านบาท และ 111.06 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 45.68%, 31.28%, 43.76% ตามลำดับ โดยในปี 63 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100.37% เนื่องจากคลังน้ำมันศรีสะเกษเปิดให้บริการเต็มปี ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวต่อเนื่อง

ส่วนในงวด 9 เดือนแรกปี 64 บริษัทฯ มีรายได้ 166.29 ล้านบาท ลดลง 11.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงตามยอดจำหน่ายน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีโรงงานบางส่วนหยุดการผลิต ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์ลดลง ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 72.23 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 8.98% แต่อัตรากำไรสุทธิกลับปรับตัวดีขึ้นเป็น 43.33% เพิ่มขึ้น 0.98% จากงวด 9 เดือนของปี 63 ซึ่งกำไรสุทธิชะลอตัวเนื่องจากรายได้จากการให้เช่าและบริการลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้อัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากงวด 9 เดือนแรกของปีก่อน

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทมีความเสี่ยงหลักอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ การพึ่งพิงลูกค้าที่เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่รายเดียว ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อ คือ การไม่ได้รับการต่อสัญญา และต่อสัญญาด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งมองว่าการที่ OR มีสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบ DODO ค่อนข้างมาก การมีคลังน้ำมันกระจายอยู่ในทุกพื้นที่จะส่งผลดีต่อ OR จึงมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่มากนัก

ปัจจุบันคลังขอนแก่น มีระยะสัญญา 10 ปี นับตั้งแต่ 1 ต.ค.57 ถึง 30 ก.ย.67, คลังศรีสะเกษ มีระยะสัญญา 3 ปี นับตั้งแต่ 1 พ.ค.62 ถึง 30 เม.ย.65

นายวีรวัฒน์ กล่าวถึงการแข่งขันและการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ว่า จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของการขนส่งให้ประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และความต้องการใช้น้ำมันรถลงจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมองว่าในระยะ 5-10 ปีนี้ จะยังไม่มีนัยสำคัญ จากปัจจัยที่ยังไม่เอื้อ ไม่ว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูง, สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อการสร้างฐานการผลิต รถ EV ในประเทศยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่อย่างไรก็ตามมอง EV เป็นโอกาสในระยะนี้เช่นกัน เนื่องด้วยผู้ค้าน้ำมันทุกรายจะไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงแล้ว ก็จะสนับสนุนแนวคิดอง PTC ที่เป็น Infrastructure Sharing

“เรามุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์โดยการทำงานร่วมกัน (Synergistic Strategic Alliance) กับทั้งลูกค้า คู่ค้า รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายการทำธุรกิจให้เจริญเติบโตร่วมกันจากการแบ่งปันความรู้ความสามารถ การแบ่งและบริหารความเสี่ยงต่อองค์กร และนวัตกรรมต่างๆ จากพันธมิตรของบริษัท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการเชื่อมโยงระบบการขนส่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูงสุด นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างวางแผนขยายตลาดเพื่อแสวงหาลูกค้าในกลุ่มสถานีบริการน้ำมันรายใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยใช้บริการรับน้ำมันจากคลังของบริษัทฯ หรือเข้ามารับในปริมาณไม่มาก เพื่อลดผลกระทบจากการสูญเสียลูกค้าและสร้างการเติบโตในอนาคต”

นายวีรวัฒน์ กล่าว

PTC เป็นผู้ให้บริการที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับสถานีบริการน้ำมันครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน โดยมีลักษณะการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย

1.บริการรับ เก็บ และจ่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปประเภทเบนซินและดีเซล ให้บริการที่คลังน้ำมันจำนวน 2 แห่ง คือ

  • คลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่จังหวัดขอนแก่น (คลังขอนแก่น) ตั้งอยู่ใน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีขนาดพื้นที่คลังประมาณ 37 ไร่ มุ่งเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นหลัก

ปัจจุบัน มีถังเก็บน้ำมันเพื่อให้บริการจำนวน 10 ถัง ปริมาตรรวมประมาณ 9.0 ล้านลิตร สามารถรองรับการเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงได้หลากหลายประเภทตามความต้องการที่มีในประเทศไทย โดยคลังน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวมีความสามารถรับและจ่ายน้ำมันได้สูงสุดประมาณปีละ 1,400 ล้านลิตร และ 1,400 ล้านลิตร ตามลำดับ คิดเป็นการจ่ายน้ำมันให้แก่รถบรรทุกน้ำมันได้ประมาณ 296 คัน/วัน สำหรับรถบรรทุกน้ำมันขนาด 16,000 ลิตร

  • คลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่จังหวัดศรีสะเกษ (คลังศรีสะเกษ) ตั้งอยู่บน ถนนศรีสะเกษ-อุบลราชธานี อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มีขนาดพื้นที่คลังประมาณ 74 ไร่ มุ่งเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าหลักในจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

ปัจจุบัน มีถังเก็บน้ำมัน 10 ถัง ปริมาตรรวมประมาณ 9.70 ล้านลิตร สามารถรองรับการเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป น้ำมันเชื้อเพลิงพื้นฐาน และน้ำมันชีวภาพได้หลากหลายประเภท โดยสามารถรับและจ่ายน้ำมันได้สูงสุดประมาณปีละ 830 ล้านลิตร และ 770 ล้านลิตร ตามลำดับ คิดเป็นการจ่ายน้ำมันให้แก่รถบรรทุกน้ำมันประมาณ 152 คัน/วัน สำหรับรถบรรทุกน้ำมันขนาด 16,000 ลิตร

2. บริการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงพื้นฐานตามสูตร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามที่ลูกค้าต้องการ ให้บริการที่คลังศรีสะเกษ ด้วยการเพิ่มบริการการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอินไลน์ (Inline Fuel Blending) ในกระบวนการให้บริการ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถให้บริการแก่สถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันได้หลายราย และกลายเป็นผู้ให้บริการจ่ายน้ำมันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน-ล่าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top