ไทยพบโอมิครอนครบทุกจังหวัดแล้ว คาดปลายม.ค.แทนที่เดลตา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนครบทุกจังหวัดแล้ว โดยรวมตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 64 ไทยตรวจพบโอมิครอนแล้วทั้งหมด 10,721 ราย โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร พบทั้งหมด 4,178 ราย รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ อุดรธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการติดเชื้อในประเทศพบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 80.4% ดังนั้น คาดว่าปลายเดือนม.ค. การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด

ส่วนการสุ่มตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบสายพันธุ์โอมิครอนแล้วเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็น 96.9% ดังนั้น สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้แล้วว่า ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่พบการติดเชื้อนั้น เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

สำหรับการสุ่มตรวจตัวอย่างจะคัดเลือกจากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มตัวอย่างจากในประเทศ กลุ่มตัวอย่างจากต่างประเทศ กลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มติดเชื้อซ้ำ กลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ (50 รายขึ้นไป) กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยการสุ่มตรวจ จะสุ่มจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 140 รายต่อสัปดาห์ ต่อเขตสุขภาพ

จากการสุ่มตรวจ พบว่า กลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ยังพบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไปถึง 2 เท่า ดังนั้น จึงยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ ส่วนกลุ่มที่ได้วัคซีนครบ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่บ้าง ในส่วนของกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำทุกราย พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดิม ไม่มีภูมิในการป้องกันโอมิครอน

สำหรับสัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11-17 ม.ค. 65 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 3,711 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบโอมิครอน 86.8% และเดลตา 13.2%

“จำนวนการตรวจจะลดลงเนื่องจากรู้ข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคงต้องถอดรหัสพันธุกรรมแบบเต็มตัว เพื่อเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ อย่างไทยก็พบเดลตาที่เป็นปัญหามากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ เรายังคงต้องอยู่กับโอมิครอน ถ้าไม่มีความรุนแรงมาก สุดท้ายทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม โอมิครอนแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถหลบวัคซีนได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโควิดทุกสายพันธุ์ และเพื่อลดอาการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าหลังเทศกาลปีใหม่ พบ 87% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมักไม่แสดงอาการและอาการไม่รุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังพบว่าผู้ที่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ เป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ถึง 159 ราย อายุ 60-69 ปี 58 ราย อายุ 50-59 ปี 33 ราย ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อายุน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ดังนั้น กลุ่ม 607 จำเป็นต้องได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนให้มากที่สุดทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 76% เข็มที่สอง 70% เข็มที่สาม 15.4% หากนับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมกับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้ว 10%

โดยในปีนี้ได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 สำหรับแผนในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top