เยอรมนีจ่อดึงแรงงานมีทักษะเข้าประเทศปีละ 4 แสนคน แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน-สูงวัย

รัฐบาลเยอรมนีประกาศแผนที่จะดึงดูดแรงงานมีทักษะจากต่างประเทศมาสู่เยอรมนีปีละ 400,000 คน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานสูงวัยและแรงงานขาดแคลนในภาคธุรกิจสำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19

“ปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้นรุนแรงขึ้นจนสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเราอย่างหนัก” นายคริสเตียน ดือร์ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ในรัฐสภาเยอรมนีเผย และกล่าวเสริมว่า “วิธีการรับมือกับแรงงานสูงอายุนั้นมีเพียงทางเดียว ซึ่งก็คือการใช้นโยบายผู้อพยพที่เข้ากับสมัยปัจจุบัน เราต้องบรรลุเป้าหมายในการดึงดูดแรงงานมีทักษะจากต่างประเทศ 400,000 คนต่อปีให้ได้โดยเร็วที่สุด”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลผสมของเยอรมนีได้ร่วมกันตกลงใช้ระบบนับแต้มสำหรับแรงงานระดับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนอกสหภาพยุโรป และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของเยอรมนีสู่ 12 ยูโร (13.60 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาทำงานในเยอรมนีมากขึ้น

สถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (German Economic Institute) คาดการณ์ว่า จำนวนแรงงานของเยอรมนีจะหดตัวลงกว่า 300,000 คนในปีนี้ เนื่องจากมีแรงงานที่เกษียณอายุออกไปมากกว่าแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า ช่องว่างดังกล่าวอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมากกว่า 650,000 คนภายในปี 2572 ซึ่งจะทำให้ปี 2573 ตลาดแรงงานของเยอรมนีจะขาดแคลนประชากรวัยทำงานสะสมราว 5 ล้านคน

ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีประชาชนชาวเยอรมันอยู่ในตำแหน่งงานเกือบ 45 ล้านคน แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top