วิจัยกสิกรฯคาดเฟดยังไม่ส่งสัญญาณเพิ่มในการประชุมสัปดาห์หน้า,ตลาดรับรู้ขึ้นดอกเบี้ยมี.ค.แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 25-26 ม.ค. คาดเฟดยังไม่ส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดได้รับรู้ไปแล้ว

ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวอย่างต่อเนื่องและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full employment) คาดว่าเฟดคงเริ่มวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค 2565 ตามที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธ.ค. 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีที่ 7.0% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งสูงขึ้นที่ 5.5% YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 กว่าปี ทั้งนี้ ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้

ขณะที่นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นในจีนอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของจีนและยิ่งซ้ำเติมปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะยืนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนสิ้นสุดไตรมาส 1/2566 ท่ามกลางอุปทานที่ยังตึงตัวและความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่มีความตึงเครียดขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า

  • ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราว่างงานเดือนธ.ค. 2564 ลดลงมาสู่ระดับต่ำกว่าระดับ 4.0% ที่ 3.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full employment) และเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ก่อนหน้า (9-15 ม.ค.) จะออกมาน่าผิดหวัง โดยยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันและแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 286,000 ราย แต่คาดว่าเป็นผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นและส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลงบ้าง อย่างไรก็ดี ในภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่ ขณะที่ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ดังนั้นผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก
  • ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่หลายคนของเฟดแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาทิ นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก นายจอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก นางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก นายแพทริค ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ดังนั้น คาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้

ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ คาดว่าเฟดจะยังคงไม่ส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปแล้วก่อนหน้านี้และตลาดรับรู้ไปแล้ว เพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ ทั้งในประเด็นของความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานโลก ขณะที่คงต้องติดตามการประชุมนโยบายการเงินครั้งหน้าในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก

อีกทั้งในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งตลาดคงจะต้องติดตามว่าเฟดจะมีการปรับจุดยืนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 3 ครั้งเป็น 4 ครั้งในปีนี้ตามที่ตลาดบางส่วนมีการคาดการณ์หรือไม่ โดยมีแนวโน้มว่าเฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี หากประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากขึ้น คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่อาจจะยังคงมีมุมมองปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้

สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดได้รับรู้การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณแข็งกร้าว (hawkish) เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเท่าใดนัก ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี หากเฟดมีการส่งสัญญาณ hawkish มากขึ้นในระยะข้างหน้า ประกอบกับหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างร้อนแรง คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจยังคงมีไม่มากนัก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจยังอยู่ในระดับที่อ่อนแออยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top