ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,450 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,153 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 38 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 48 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 211 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 2,439 ราย
– เสียชีวิต 28 ราย ในจำนวนนี้ยังไม่มีประวัติได้รับวัคซีน 15 ราย และได้รับวัคซีนเพียงเข็มแรก 3 ราย อีก 10 รายได้รับวัคซีนสองเข็มครบ แต่ไม่เกิน 6 เดือน แยกเป็นเพศชาย 17 ราย เพศหญิง 11 ราย อายุเฉลี่ย 69 ปี (17-93 ปี) เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 23 ราย คิดเป็น 82% ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็น 14% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย คิดเป็น 4%
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,292 ราย, สมุทรปราการ 743 ราย, นนทบุรี 499 ราย, ชลบุรี 446 ราย, ภูเก็ต 379 ราย ปทุมธานี 245 ราย, ราชบุรี 239 ราย, นครรราชสีมา 192 ราย, ศรีสะเกษ 182 ราย และลพบุรี 168 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,415,472 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 7,484 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,126 ราย
ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 366,694,287 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 5,656,642 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 74,695,333 ราย อันดับ 2 อินเดีย 40,620,197 ราย อันดับ 3 บราซิล 24,782,922 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 18,122,724 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 16,245,474 ราย โดยประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับที่ 29
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจสอบพันธุกรรมแล้ว ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์เดิม โดยยังสามารถตรวจพบได้จากการตรวจทาง ATK และ RT-PCR ที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และไม่มีรายงานว่ามีอาการป่วยรุนแรงมากไปกว่าสายพันธุ์เดิม โดยมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนไปรับบริการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เนื่องจากขณะนี้ทั่วประเทศ มียอดฉีดสะสมเพียง 19.3% เท่านั้น โดยในกรุงเทพฯ มียอดฉีดสะสมแล้ว 39.35% ขณะที่ยังมีพื้นที่ที่มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกในสัดส่วนไม่เกิน 59% ถึง 7 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน ตาก ลพบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะมีแนวโน้มลดลง แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตเลย ส่วนการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มให้บริการฉีดได้ในสัปดาห์หน้า
สำหรับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่ทั่วไป โดยยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในร้านอาหาร สถานประกอบการ งานบวช งานแต่งงาน งานศพ เนื่องจากมีการจัดเลี้ยง และการเล่นพนัน
ส่วนคลัสเตอร์สถานศึกษา พบที่จังหวัดราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย เลย ศรีสะเกษ เมื่อสอบสวนโรคแล้ว พบปัจจัยเสี่ยงจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศที่มีการเลี้ยงอาหาร
กรณีโรงเรียนหญิงประจำจังหวัดราชบุรี พบผู้ติดเชื้อ 311 ราย จาก 570 คน และครู 6 รายหลังอนุญาตให้กลับบ้านช่วงปีใหม่ แล้วกลับเข้าโรงเรียนในวันที่ 14 ม.ค. 65 และมีการตรวจ ATK แล้วมีผลเป็นลบทั้งหมด แต่พอตรวจ ATK ครั้งที่สองในวันที่ 23 ม.ค.65 พบผลบวก 120 ราย จึงได้คัดแยกผู้ป่วยทันที โดยเข้ารักษาใน รพ.แล้ว 26 ราย ส่วนอีก 285 รายอยู่โรงพยาบาลสนาม
“แม้ผลตรวจ ATK จะเป็นลบ แต่หากมีความเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากหลายหลายพื้นที่ มีการรวมกลุ่ม สัมผัสเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อมาก่อน ขอให้กักตัวและสังเกตุอาการตัวเองด้วย”
พญ.อภิสมัย กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก ศบค.) มีความเป็นห่วงสถานศึกษา จึงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดไว้ก่อน แม้ ศบค.จะผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ
ส่วนมาตรการ Test and Go ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ.นี้ มีการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเช่นกัน ซึ่งต้องขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบสถานบริการหรือนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19