สธ. แนะล้างผลไม้มงคลให้สะอาดก่อนบริโภค หลังสุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้าง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นช่วงเวลาการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ มีการเตรียมซื้อวัตถุดิบอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ และกล้วย เป็นที่นิยมในเทศกาลนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่อาจตกค้างมากับผลไม้มงคลเหล่านี้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้เฝ้าระวังเพื่อติดตามสถานการณ์การตกค้างในผลไม้อย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลไม้ 5 ชนิดข้างต้นในปี 2563 – 2564 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 298 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS/MS และ GC-MS/MS ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 132 ชนิด ผลการตรวจดังนี้

  • ส้ม จำนวน 91 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 71 ตัวอย่าง คิดเป็น 78% สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, โปรฟีโนฟอส, ไซเพอร์เมทริน และคาร์เบนดาซิม
  • องุ่น จำนวน 79 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 36 ตัวอย่าง คิดเป็น 46% สารที่ตรวจพบ ได้แก่ เมทโทมิล, ไพริเมทานิล, คลอร์ฟีนาเพอร์ และเมทาแล็กซิล
  • แอปเปิ้ล จำนวน 77 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 20 ตัวอย่าง คิดเป็น 26% สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไซฟลูทริน และไพริเมทานิล
  • สาลี่ จำนวน 37 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 16 ตัวอย่าง คิดเป็น 43% สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไบเฟนทริน, คาร์เบนดาซิม และบูโพรเฟซิน
  • กล้วย จำนวน 14 ตัวอย่าง พบการตกค้างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 21% สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส

จากการตรวจพบสารสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

“เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนรับประทานผลไม้ทุกครั้ง ควรนำมาล้างทำความสะอาดสำหรับผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม สาลี่ ให้แช่น้ำก่อนแล้วล้างด้วยน้ำไหลและใช้มือถูเปลือกไปพร้อมกัน ส่วนผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ให้นำไปล้างด้วยน้ำไหลผ่านก่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดทั้งพวงโดยไม่ต้องเด็ดออกเป็นลูก เนื่องจากอาจจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำซึมเข้าทางแผลที่ขั้วหรือเปลือกได้ นอกจากนั้น การปอกเปลือกออกก่อนรับประทาน จะเป็นการลดปริมาณสารตกค้างได้ เป็นอย่างดีเพราะสารตกค้างส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่เปลือกของผลไม้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top