สธ.เชื่อภายในปีนี้โควิดลดระดับเป็นโรคประจำถิ่น/ปรับลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) คือ การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดน ระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม

ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วหลังการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Post Pandemic) การแพร่ระบาดจะนำไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้ ขณะเดียวกัน ช่วงหลังการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก ก็สามารถกลายเป็นโรคระบาด (Epidemic) ได้เช่นกัน คือ การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติหรือมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยตัวอย่าง โรคในประเทศไทยที่ผ่านการแพร่ระบาดใหญ่มาแล้ว เช่น โรคเอดส์ โรคไข้มาลาเรีย โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดได้นั้น อัตราการติดเชื้อต้องคงที่ และสายพันธุ์ของโรคไม่เพิ่มมากขึ้น และอาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงไม่มาก ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในปีนี้น่าจะผ่านพ้นการระบาดใหญ่ไปได้ จาก 3 เหตุผล มีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม เชื้อกลายพันธุ์เป็นโอมิครอน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยลง จึงอาจสามารถควบคุมการแพร่ระบาด และคาดการณ์แนวโน้มของโรคได้

“Post Pandemic คงสามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป อย่างไรก็ดี คงไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ แต่คาดการณ์ว่าเป็นภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสม เราจะสามารถประกาศได้เร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ของประเทศไทย และความร่วมมือจากประชาชน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส ได้กล่าวถึงคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (เพิ่มเติม) ในเดือนก.พ. 65 อ้างอิงจากคำแนะนำจากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 28 ม.ค. 65 ผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วันที่ 31 ม.ค. 65 ดังนี้

1. ให้สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ด้วยวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน Viral vector เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

2. ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

3. เพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มมาแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้

4. กรณีผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว (คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในขณะนี้) สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป

5. เห็นชอบในหลักการให้วัคซีนซิโนแวคในผู้ที่มีอายุ 3-17 ปี (ขณะนี้รอการขึ้นทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะแจ้งแนวทางการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว

ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 เดือนก.พ. 65 ปรับปรุงเพิ่มเติมตามคำแนะนำการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้นการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วันที่ 31 ม.ค. 65 ดังนี้

1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 7 ล้านโดส สำหรับ

1.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์

1.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ในผู้ที่ได้รับวัคชีนสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า (ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์)

1.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า (เป็นทางเลือกเพิ่มเติม)

1.4 ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 1.1)

2. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วงสูตรสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.6 ล้านโดส สำหรับ

2.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์

2.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ในผู้ที่อายุ 12-17 ปี ตามสูตรไฟเซอร์-ไฟเซอร์

2.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ตามสูตรซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์ (หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป)

2.4 ผู้ที่อายุ 12-17 ปี และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 2.2)

3. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝ่าสีส้มสูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี) จำนวน 1.2 ล้านโดส

4. สำรองสำหรับตอบโต้การระบาดด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 ล้านโดส

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ มีการติดเชื้อในระดับที่น้อยลงจากการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น ประกอบกับประชาชนปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ไม่เกิน 20 รายต่อวัน อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ยังต้องติดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลังจากนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศด้วยระบบ Test&Go

นพ.จักรรัฐ ได้กล่าวถึงประเภทของผู้สัมผัส ของโรคโควิด-19 ว่า สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. ผู้สัมผัสที่อาจเป็นแหล่งโรค 2. ผู้สัมผัสที่อาจรับเชื้อจากผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 2.1 ผู้สัมผัสที่ไม่ถือว่าใกล้ชิด และ 2.2 ผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งสามารถแยกย่อยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครัวเรือน สถานพยาบาล ยานพาหนะ โรงเรียน ที่ทำงาน หรือชุมชน

ทั้งนี้ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 หมายถึง ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ Personal protective equipment (PPE) ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัส โดย 1. ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เข้าข่ายหรือยืนยัน ในวันเริ่มป่วย หรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการป่วย 2. อยู่ใกล้ พูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วย หรือ 3. อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

สำหรับแนวปฎิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ของผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้มีการปรับมาตรการเป็น 7+3 คือ ลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน และเฝ้าระวังอีก 3 วัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนสามารถพบเชื้อได้เร็ว โดยมี 10 ขั้นตอนในการดูแลตนเอง หากเข้าข่ายผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หรือส้มผัสผู้ติดเชื้อ หรือกลับจากสถานที่เสี่ยง ดังนี้

1. ตรวจสอบอาการตนเอง หรือเช็คประวัติการสัมผัสใกล้ชิด

2. ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เน้นย้ำการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100%

3. ให้กักตัวเองที่บ้าน (แยกเครื่องใช้ส่วนตัว สำรับอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด งดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และแจ้งทุกคนที่บ้านทราบ) หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้เว้นพื้นที่ให้มีระยะห่างเพียงพอ เน้นแยกห่างจากกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง) และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

4. ตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ครั้งที่ 1 ตรวจวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย โดยสามารถซื้อชุดตรวจจากร้านขายยา หรือลงทะเบียนรับชุดตรวจจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน

5. หากตรวจด้วย ATK ครั้งที่ 1 ผลเป็นลบ ให้กักตัวเองที่บ้านจนครบ 7 วัน และเริ่มขั้นตอนการสังเกตอาการตนเอง (นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย)

6. เฝ้าระวังสังเกตอาการ 3 วัน เลี่ยงออกนอกบ้าน กรณีจำเป็น เช่น ไปทำงาน ทำภารกิจสำคัญนอกบ้าน ให้เลี่ยงการใช้สถานที่สาธารณะ และขนส่งสาธารณะที่มีความหนาแน่น แออัด รวมทั้งงดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนจำนวนมาก

7. ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือกลับจากสถานที่เสี่ยง

8. หากผลตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ผลเป็นลบเท่ากับไม่พบเชื้อ ครบตามขั้นตอนการกักตัว (7 วัน) และเฝ้าระวังสังเกตอาการ (3 วัน)

9. หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีไม่มีอาการป่วย หรือมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ ให้ลงทะเบียนรับการดูแล โทร 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน และปรับให้เป็นการแยกกักที่บ้าน รับเครื่องตรวจวัดออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ (ตามเกณฑ์) ผู้ประสานโทรติดตามอาการป่วย

10. หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีมีอาการป่วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกมาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

“อยากให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง (Universal Prevention) มาตรการ VUCA รวมทั้งมาตรการ Covid Free Setting ของร้านค้าต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง ก่อนที่จะกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top