กอนช. เผยนาปรังปลูกเกินแผน 6 แสนไร่ วอนงดปลูกรอบ 2 คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า หากพิจารณาการปลูกพืชรายจังหวัดแล้วมีถึง 16 จังหวัด ที่ขณะนี้ปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมประมาณ 1.32 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแผนที่กำหนดให้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 4.98 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 4.27 ล้านไร่ แต่ขณะนี้มีการเพาะปลูกแล้ว 5.29 ล้านไร่ คิดเป็น 115% ของแผน โดยเป็นข้าวนาปรัง 4.90 ล้านไร่ เพาะปลูกมากกว่าแผน 15% หรือประมาณ 630,000 ไร่

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แม้การปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมากกว่าแผน แต่การจัดสรรน้ำต้นทุนจากที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยตามแผนจะจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งสิ้น 4,700 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,199 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของแผน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบูรณาการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดส่งน้ำแบบรอบเวรตามแผนของกรมชลประทาน

สำหรับผลการจัดสรรน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งรวม 16,678 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้ว 6,326 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% ของปริมาณน้ำที่จัดสรรทั้งหมด เช่นเดียวกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยตามแผนที่วางไว้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11.66 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 9.03 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 8.95 ล้านไร่ คิดเป็น 77% ของแผน เป็นข้าวนาปรัง 7.60 ล้านไร่ คิดเป็น 84% ของแผน

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ในการควบคุมดูแลการลำเลียงน้ำให้สอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การทำนาปรังส่วนหนึ่งได้ใช้น้ำค้างทุ่งในการเตรียมแปลงเพาะปลูก และบางพื้นที่เกษตรกรก็มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตนเอง รวมทั้งยังมีการรณรงค์นำวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำ ทำให้ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าข้าวนาปรังได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ขอความร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนดังกล่าวมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นจะต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคและการรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก รวมทั้งต้องสำรองปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 65 อีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการหารือพิจารณามาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานภาคเกษตร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กอนช. ยังเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการตรวจวัดค่าความเค็มในบริเวณคลองที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกัน หากค่าความเค็มสูงเกิน 0.2 mg/l จะเร่งดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังการใช้น้ำทันที และจะดำเนินการผลักดันน้ำเค็มโดยใช้น้ำที่สำรองไว้ตามแผน

ภาพรวมของแหล่งน้ำเก็บกักน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ 34,174 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% ของปริมาณการเก็บกัก โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,364 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของปริมาณการเก็บกัก ที่เหลือเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางขนาดเล็ก ทั้งนี้ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

“ในฤดูแล้งปีนี้ กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และบุคลากรเพื่อช่วยเหลือประชาชนหากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้ฤดูแล้งปีนี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top