กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนงดกินอาหาร สุกๆ ดิบๆ ป้องกันโรคพยาธิปอดหนู

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบผู้ป่วยถูก “พยาธิปอดหนู” ขึ้นตา จนทำให้ตาเสียการมองเห็นไป 1 ข้าง ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสาเหตุมาจากชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ นั้น กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่า โรคพยาธิปอดหนู หรือโรคพยาธิหอยโข่ง ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งเกิดจากพยาธิตัวกลมแองจิโอสตรองจิลัส แคนโตเนนซิส (Angiostrongylus cantonensis) โดยมีรายงานพบครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2478

ปัจจุบัน สามารถพบพยาธิปอดหนูกระจาย ในประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย คิวบา เป็นต้น สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา ประมาณ 50 ราย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศ แต่พบมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 2.2 ราย/แสนประชากร และพบรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2505

สำหรับพยาธิปอดหนู เกิดจากพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในเส้นเลือดแดงในปอดหนู ผสมพันธุ์ออกไข่อยู่ตามหลอดเลือดฝอยในปอด ฟักออกจากไข่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆ เดินทางไปยังกระเพาะอาหารลำไส้แล้วปนออกมาในมูลหนู เมื่อสัตว์น้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยทากบก กุ้งน้ำจืด ปูน้ำจืด กบ กินมูลหนูที่มีตัวอ่อนพยาธิเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ และเมื่อคนกินสัตว์น้ำจืดดังกล่าวเข้าไป ก็จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าสู่ร่างกาย

“ผู้ป่วยจะได้รับตัวอ่อนพยาธิจากการกินหอยน้ำจืด อาทิ หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม หอยทากบก หรือกุ้งน้ำจืด ปูน้ำจืด กบ ที่ปรุงดิบหรือสุกๆ ดิบๆ หรือผักสดที่ปนเปื้อนมีเมือกของหอยทากบก ที่มีตัวอ่อนพยาธิ ระยะติดต่อคลานผ่านผักสดหรือ ผลไม้ เมื่อคนกินผักสด หรือผลไม้ที่ล้างไม่สะอาดเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิจะไชเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง หรือสมองเป็นส่วนใหญ่ และมีบ้างที่ไชเข้าตา ไชไปที่ปอด จะเกิดการอักเสบที่ปอด หรือพบที่น้ำไขสันหลัง”

นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ ระยะแรกเมื่อได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อ จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อพยาธิเดินทางเข้าสู่สมอง ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง บริเวณหน้าผาก และขมับทั้งสองข้างจนถึงท้ายทอย และจะค่อยๆ หายไปภายใน 2-3 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการคอและหลังแข็ง บางรายทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้ หากพยาธิอยู่ที่ตาจะเกิดอาการตามัวแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการปวด หรือเคืองตา แต่จะทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง และทำให้ตาบอดสนิทได้

สำหรับการรักษา คือ รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดปวด รักษาอาการแบบโรคสมอง หรือกินยา Albendazole (drug of choice) ขนาด 15 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อ 1 วัน แบ่ง 2 โดส เป็นเวลา 14 วัน และอาจมีการผ่าตัดเอาพยาธิออก

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยปฏิบัติดังนี้ 1. งดการกินหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กบ กุ้งน้ำจืด ปูน้ำจืด ปลาน้ำจืดดิบ 2. ผักสดต้องล้างให้สะอาดก่อนกินเป็นผักสลัด หรือเครื่องเคียงเนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิ 3. กินอาหารที่ปรุงสุกสะอาดด้วยความร้อน 4. ดื่มน้ำที่สะอาด 5. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหาร 6. กำจัดหนูที่เป็นตัวก่อเชื้อโรค และ 7. ปรับปรุงสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ให้สะอาดถูกสุขอนามัย

อย่างไรก็ดี หากมีอาการผิดปกติหลังกินอาหารที่ปรุงไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top