AOT แจงแก้สัญญาสิทธิร้านค้าปลอดภาษีอยู่ในอำนาจบอร์ด หวังพยุงรายได้ช่วงโควิดระบาด

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.กล่าวชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีแก้ไขสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและสัญญาให้สิทธิ ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ว่า ในการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ทอท.ที่จะพิจารณาดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นการกระทำโดยสุจริตโดยอำนาจบริหาร และยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งรายได้ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารธุรกิจ โดยได้มีการวิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) อย่างครบถ้วน และพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

นอกจากนี้ ทอท.ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณา และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ.2561

นายนิตินัย ยืนยันว่า ทอท.ได้ทำการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลในทุกๆ ด้านรวมถึงการพิจารณาระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้คำนึงถึงโอกาสทางเลือกที่ผู้ประกอบการสามารถบอกเลิกสัญญา อันจะส่งผลกระทบกับความต่อเนื่องในการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายปิดน่านฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ได้ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.มีจำนวนลดลงกว่า 90% ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทุกประเภทของ ทอท.โดยตรงอย่างรุนแรง และหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัย อันอาจเป็นเหตุให้สายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์สามารถใช้สิทธิตามเงื่อนไขสัญญาเพื่อขอยกเลิกสัญญากับ ทอท.ได้

ดังนั้น ทอท.ในฐานะผู้ให้บริการท่าอากาศยานมีความจำเป็นต้องรักษาประสิทธิภาพการให้บริการและยังคงต้อง ดำรงไว้ซึ่งธุรกิจของ ทอท. โดยการถูกผู้ประกอบการยกเลิกสัญญาจะส่งผลกระทบโดยตรงกับรายรับของ ทอท. เป็นระยะยาว รวมถึงกระทบต่อความพร้อมของท่าอากาศยานในการเตรียมรับการเปิดประเทศเมื่อสถานการณ์ของ โรคโควิด-19 คลี่คลายลง

นอกจากนี้ หากต้องมีการเปิดประมูลเพื่อหาผู้ประกอบการเข้ามาทดแทนในสถานการณ์ ที่จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมากตามที่ทราบโดยทั่วกันอยู่ในขณะนี้ ทอท.จะมีความเสี่ยงที่อาจไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมการประมูลดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานอินชอน สาธารณรัฐเกาหลีในช่วงเวลาเดียวกัน หรือไม่มีผู้เสนอ ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ ทอท.ในอัตราที่สูงเช่นเดียวกับที่ ทอท.ได้รับจากการประมูลเสนอราคาที่ผ่านมา อันจะทำให้ ทอท.ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และยังทำให้รายได้รวมของ ทอท.ลดลงมาก

ทอท.จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการทุกประเภทการบริการเพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งการรักษารายได้ของ ทอท.ไว้ และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ให้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผู้ประกอบการดำรงธุรกิจต่อไปได้

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทอท.ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระเบียบดังกล่าวคณะกรรมการ ทอท.ได้กำหนดขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามในข้อบังคับ ทอท.ข้อ 36 ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการ ของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ทอท.ได้รับรายได้ค่าเช่าและค่าผลประโยชน์ตอบแทน

จากการให้สิทธิประกอบกิจการอย่างครบถ้วนเสมอมา และจากมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังสามารถทำให้ ทอท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากผู้ประกอบการอย่างสมควรตามสภาพสถานการณ์จำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้งบประมาณของตนเอง มิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ การจัดทำงบประมาณของ ทอท.เป็นไปตามข้อบังคับ ทอท. ข้อ 54 (3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 รวมถึงพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top