Decrypto: ซื้อไฟจากผู้ผลิตไฟ (ส่วนบุคคล) ขุดเหมืองคริปโทฯ ทำได้ไหม ??

การขุดเหมืองคริปโทฯ เป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการดำเนินการ หากไฟฟ้าดังกล่าวถูกผลิตขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ การขุดเหมืองคริปโทฯ จึงเป็นกิจกรรมที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนรับผิดชอบปรากฏการณ์โลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ธนาคารโลก (World Bank) ปฏิเสธให้การสนับสนุนประเทศเอลซัลวาดอร์ในการดำเนินการให้บิทคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หลังจากเอลซัลวาดอร์ตรากฎหมายบิทคอยน์ ที่มีชื่อเรียกว่า “Bitcoin Law” โดยมีวัตถุประสงค์ให้บิทคอยน์กลายเป็นสิ่งที่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ โดย World Bank ให้เหตุผลประการหนึ่งว่าบิทคอยน์มีปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจตั้งคำถามว่าหากเราสามารถซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ เพื่อการขุดเหมืองคริปโทฯ โดยเฉพาะได้หรือไม่? เรามีทางเลือกที่จะซื้อไฟฟ้าสะอาดจากคนในชุมชนซึ่งมิใช่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้หรือไม่? และทางเลือกดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ในปัจจุบัน การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นการดำเนินการที่สามารถขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ตามตามมาตรา 47 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ได้ต้องขอรับใบอนุญาตตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 47 วรรคสามของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550) การดำเนินการเหล่านี้มิใช่สิ่งที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ

แม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีอำนาจตามกฎหมายจัดตั้งในการประกอบกิจการไฟฟ้า (ภายใต้การกำกับดูแล (regulate) ของ กกพ.) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเอกชน เช่น บุคคลธรรมดาซึ่งติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านจะไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น

การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชนนั้นสามารถดำเนินการผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าหรือจะต้องมีระบบที่สนับสนุนการส่งไฟฟ้าไปยังปลายทาง3 คำถามที่ตามมา จึงได้แก่ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนดังกล่าวเกิดขึ้นน่าจะเกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง?

ประเทศไทยจะมีเมืองที่มีความเหมาะสมหรือน่าจะมีความพร้อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนหรือไม่? ตัวอย่างที่น่าสนใจของประเทศไทยได้แก่ “เมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ 1/2562 ให้นิยามของ เมืองอัจฉริยะ เอาไว้ว่าเป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายของเมืองและประชากรเป้าหมาย4

ด้านพลังงานนั้น เมืองอัจฉริยะอาจเกิดจากการพัฒนาเมืองเดิมซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยอยู่แล้วและใช้ไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. อยู่แล้ว ให้กลายเป็นเมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีลักษณะของ “พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)”

จากลักษณะของเมืองอัจฉริยะดังกล่าวพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะควรจะสามารถซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนโดยเพื่อนบ้านหรือคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. เพียงอย่างเดียว

พลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะซึ่งประสงค์จะซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนกันเองจะต้องใช้ประโยชน์จากโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ได้แก่ ระบบการนำไฟฟ้าซึ่งมีแรงดันไฟฟ้าสูงจากระบบผลิตไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายไฟฟ้า (ซึ่งเรียกว่าระบบส่งไฟฟ้า) และระบบการนำไฟฟ้าจากระบบส่งไฟฟ้า หรือระบบผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งมิใช่ผู้รับใบอนุญาต (ซึ่งเรียกว่าระบบจำหน่ายไฟฟ้า)

หากเจ้าของบ้านรายหนึ่งต้องการขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาให้กับบุคคลอื่นในละแวกเดียวกันโดยใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. เพื่อส่งไฟฟ้าไปยังผู้ซื้อไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถใช้ไฟฟ้าสะอาดนี้ในการขุดเหมืองคริปโทฯ อันเป็นการลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. ได้หรือไม่?

…คำตอบคือ “ได้”

สิทธิของผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านในการใช้ระบบใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. นั้นเป็นสิทธิตามมาตรา 81 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด”

การมีสิทธิดังกล่าวนี้ย่อมหมายความว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านสามารถขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานตามมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อไฟฟ้า (ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าเพื่อการขุดเหมืองคริปโทฯ) โดยส่งไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. ได้ (โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าเอง) โดยการประกอบกิจการต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจการพลังงานจะตกอยู่ในการกับดูแลของ กกพ.

ยกตัวอย่างเช่น กกพ. มีอำนาจในการกับดูแลอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนดให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานมีหน้าที่ต้องเสนออัตราค่าบริการเพื่อให้ กกพ.ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าเอกชน และสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (เช่น กฟน. หรือ กฟภ.) จะต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการที่สอดคล้องกับอัตราที่ กกพ.เห็นชอบแล้ว ซึ่งหมายความว่าค่าบริการเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้รับใบอนุญาตจะกำหนดได้ตามดุลพินิจของตน

อย่างไรก็ตาม สิทธิของผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านในการใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ.เป็นสิทธิที่มีข้อจำกัด เช่น หากการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านนั้นจะกระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัย และคุณภาพของระบบพลังงาน หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคซึ่ง กฟน. หรือ กฟภ. ประกาศกำหนด กฟน. หรือ กฟภ. ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการขอใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายของผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านได้

โดยสรุป ผู้เขียนมีความเห็นว่าการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านและผู้ซื้อไฟฟ้าเพื่อขุดเหมืองคริปโทฯ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนในเมืองใหม่อัจฉริยะซึ่งถูกพัฒนาจากเมืองเดิมนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการพลังงาน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าจะต้องตระหนักว่าค่าบริการที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องสอดคล้องกับอัตราที่ กกพ.ให้ความเห็นชอบ และสิทธิในการเชื่อมต่อและใช้ระบบโครงข่ายนั้นมีข้อจำกัดในบางกรณี เช่น กรณีมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ
ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top