เพื่อไทย ชี้เหตุสภาฯล่ม สะท้อนรอยร้าว-ไร้เอกภาพฝ่ายรัฐบาล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงปัญหาสภาฯล่ม เกิดจากความไม่เป็นเอกภาพและเกิดรอยร้าวของฝ่ายรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน องค์ประชุมจึงเป็นเรื่องของรัฐบาล

นอกจากนี้แล้วที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมไม่เคยให้ความสำคัญกับรัฐสภา ไม่เคยมาประชุมสภา ทั้งๆ ที่สภาเป็นตัวแทนของประชาชน เมื่อรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อสภา ปัญหาของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาของประเทศชี้ไปที่ต้นตอของปัญหาคือรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ไม่ยอมรับความต้องการของประชาชน ถึงเวลานี้ประชาชนไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ เพราะประชาชนไม่ได้เลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มาจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ

สำหรับการอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นายประเสริฐ กล่าวว่า การยื่นอภิปรายครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา เมื่อเห็นว่ารัฐบาลทำงานผิดพลาด ล้มเหลวในการแก้ปัญหาประเทศ และจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพราะความเดือดร้อนของประชาชนรัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งรัฐบาลควรตั้งใจรับฟังการอภิปรายเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

การที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าจะตอบข้อซักถามแบบกว้างๆ ที่เหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบแทนนั้น ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเลย รวมทั้งไม่ใส่ใจในความเดือดร้อนของประชาชน เพราะญัตติที่ยื่นมุ่งตรงไปที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องแสดงความรับผิดชอบ อย่าลอยตัวหนีปัญหา หรือเลี่ยงในการตอบข้อซักถามของฝ่ายตรวจสอบ

เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรจะปัดสวะให้พ้นตัว ใช้วิธีการแก้ปัญหารายวัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่เคยยอมรับความจริงว่าตัวเองไร้ความสามารถ และคิดว่าตัวเองเก่งกว่าใคร จึงไม่ฟังคำแนะนำจากใครทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหาประเทศจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนไปทั้งประเทศ

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาสภาล่มซ้ำซากว่า ส่งผลให้ภาพพจน์ของรัฐสภาเสียหาย และตอนนี้เป็นข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบองค์ประชุม ซึ่งตามหลักแล้วคือต้องร่วมรับผิดชอบทั้ง 2 ฝ่าย แต่ระบบรัฐสภา รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากก็ต้องดูแลองค์ประชุมของตัวเองด้วย

นายชวน กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญมีกำหนดบทลงโทษหากผู้ใดขาดประชุม แต่ปัจจุบันมีการลงชื่อเข้าร่วมประชุมเพียงแต่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมจึงจะถือว่าไม่มาร่วมประชุมไม่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top