ศบค.รับผู้ติดเชื้อโควิดยังสูง แต่ป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลง/คลัสเตอร์ร้านอาหารน้อยลง

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ และยังสามารถควบคุมได้ และแม้ว่าอาจจะมีการติดเชื้อหลักหมื่น แต่ถ้าหากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วและมีอาการหนักหรือเป็นผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตปัจจุบันเมื่อเทียบกับระลอกเดือนเม.ย.2564 ถือว่าลดลงอย่างมาก และตอนนี้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคงตัวซึ่งระบบสาธารณสุขในปัจจุบันของประเทศไทยยังคงรองรับได้ แต่ดีที่สุดก็ไม่ควรติดเชื้อจึงขอประชาชนให้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล

ทั้งนี้ พญ.สุมนี กล่าวว่า ยังคงพบคลัสเตอร์ต่างๆ กระจายเป็นคลัสเตอร์เล็กๆทั่วประเทศ เช่น คลัสเตอร์จากงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพและงานบวช ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากในแต่ละคลัสเตอร์แต่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายสูง สำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนโดยแพร่กระจายไปในครอบครัว ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อในครอบครัวอยู่ที่ 40-50% ขณะที่หากเทียบกับอัตราการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลต้าไปยังครอบครัวอยู่ที่ 10-20% จะเห็นได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดง่าย

– ในสถานดูแลผู้สูงอายุ พบผู้ติดเชื้อในกทม. 25 ราย

– ในสถานพยาบาลกทม. 39 ราย ในขอนแก่น ปทุมธานี ชลบุรี จังหวัดละ 8 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ลพบุรี 5 ราย สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต จังหวัดละ 4 ราย สระบุรี มหาสารคาม ปัตตานี จังหวัดละ 3 ราย

– ในโรงเรียนและสถานศึกษา พบที่สระแก้ว 44 ราย สุรินทร์ 26 ราย ยโสธร 25 ราย สุพรรณบุรี 20 ราย น่าน 19 ราย ราชบุรี 13 ราย มหาสารคาม 11 ราย ขอนแก่น ปราจีนบุรี จังหวัดละ 9 ราย อำนาจเจริญ และมุกดาหาร จังหวัดละ 5 ราย

– ในโรงงานและสถานประกอบการ พบที่ชลบุรี 20 ราย ลพบุรี 12 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 10 ราย ปราจีนบุรี 7 ราย สมุทรปราการ สุรินทร์ บึงกาฬ จังหวัดละ 6 ราย อุดรธานี 5 ราย

– ในงานประเพณี ไม่ว่าจะเป็นงานศพ อุบลราชธานี 6 ราย มหาสารคาม 5 รายและสงขลา 4 ราย ส่วนงานแต่งงาน พบที่ร้อยเอ็ด และสงขลา จังหวัดละ 4 ราย ราชบุรี 2 ราย ส่วนงานบวช พบที่ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย และขอนแก่น 2 ราย

– คลัสเตอร์ที่พบมากที่สุดวันนี้ คือ คลัสเตอร์ตลาด พบที่ กทม.มากที่สุด 66 ราย ชลบุรี 29 ราย อุบลราชธานี 23 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย ขอนแก่น 13 ราย และฃน่าน 11 ราย โดยพบปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ส่วนใหญ่มาจาก เรื่องสถานที่ที่มีอากาศปิด แผงในตลาดไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบ มีคนหนาแน่นทั้งคนที่ทำงานในตลาดและผู้ที่ไปซื้อของ รวมถึงไม่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูก ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีจุดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานที่ทำงานในตลาด 1 รายไปทำงานในหลายที่ ซึ่งเป็นแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและแพร่ระบาด ดังนั้นเพื่อลดการแพร่ระบาดและการติดเชื้อ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้าในเรื่องสภาพแวดล้อม ทั้งการปรับสภาพแผงการขายให้เป็นระเบียบ และปรับการระบายอากาศให้มีอากาศถ่ายเท หรือความเสี่ยงเกิดจากการสัมผัส ธนบัตร เนื้อสัตว์ผักและผลไม้โดยตรง โดยป้องกันได้ด้วยการล้างมือทุกครั้ง

– คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง ถือว่า มีการระบาดน้อยลง เมื่อเทียบกับคลัสเตอร์อื่นๆ พบที่ขอนแก่น 15 ราย ร้อยเอ็ด 13 ราย มหาสารคามและประจวบคีรีขันธ์ 9 ราย สุพรรณบุรี ชลบุรี จังหวัดละ 5 ราย อุดรธานี สงขลา ชุมพร แพร่และน่าน จังหวัดละ 2-3 ราย

โดยล่าสุดจังหวัดมหาสารคม ได้ออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดทานข้าวร่วมกันในกิจกรรมประชุม การจัดเสวนา กิจกรรมทางศาสนาต่างๆ รวมถึงงานประเพณีต่างๆ รวมถึงงดรับประทานอาหารร่วมกันในสถานที่ราชการ สถานที่ทำงาน และสถานประกอบการ

พญ.สุมนี กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-5 ก.พ.นี้ ประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยทำงาน อยู่ในช่วงอายุ 20-49 ปี 55% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดถึง 47.3% และจากการที่ไปสถานที่เสี่ยงหรืออยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆถึง 48.4% นอกนั้น เป็นการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 0.7% และผู้ที่ตรวจATK และผลเป็นบวกแล้วไปตรวจยืนยันแบบ RT-PCR 3.6% และยังพบว่า ไม่มีอาการ 45.1% และมีอาการป่วยเล็กน้อย 54.86% และกลุ่มที่มีอาการอยู่ที่ 0.68%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top