KKP คาดเงินเฟ้อ Q1/65 อาจพุ่งแตะ 3.5% สูงสุดรอบ 11 ปี คาดทั้งปีโต 2.3%

KKP Research เปิดรายงาน “จับตาเงินเฟ้อโลกและไทย ความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจปี 2022” คาดอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับประมาณการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 เป็น 2.3% จากเดิม 2% และมีความเสี่ยงจะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ ในช่วงไตรมาส 1 ที่อาจจะขึ้นไปแตะระดับ 3.5% สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ คือ

1. ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ฟื้นตัว การลดการลงทุนด้านพลังงานจากความกังวลเรื่องโลกร้อน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญ/บาเรล ในช่วงไตรมาส 2 ของปี และเฉลี่ยทั้งปีที่ 85 เหรียญต่อบาเรล

2. ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นมาก และอาจส่งผ่านไปสู่ราคาอาหารชนิดอื่น ๆ ปัจจุบันราคาขายปลีกหมูปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วมากกว่า 40% ในกรณีฐานประเมินว่าราคาหมูจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ราคาหมูค้างอยู่ที่ระดับปัจจุบัน จากการนำเข้าที่ทำได้ยาก ในกรณีเลวร้ายที่ราคาหมูยังเร่งตัวต่อเนื่อง มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้

3. มาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2564 ในช่วงเดือนก.พ. – มี.ค. และพ.ค. – ส.ค. ทำให้ฐานของราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ

KKP Research คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีและความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่ยังมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐอเมริกา จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังกระจุกตัวอยู่ในฝั่งต้นทุน โดยเฉพาะราคาพลังงาน และราคาอาหารเท่านั้น โดยราคาสินค้าอื่น ๆ ยังแทบไม่ปรับตัวสูงขึ้นเลย ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 0.2 – 0.3% เท่านั้น ในปี 2564

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐ ฯ ในเดือนธันวาคม พุ่งสูงขึ้นไปที่ระดับ 5.5% แล้ว ซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้อในสหรัฐ ฯ ได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่กลับมาของคน และตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่งผลให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทย เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่ และยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด และระดับศักยภาพค่อนข้างมากความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อแบบต่อเนื่องจึงมีน้อย และเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

KKP Research ประเมินว่า ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันจากราคาอาหารและพลังงาน ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว มีลักษณะเป็น Stagflation แล้ว ซึ่งจะกระทบผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจอย่างมาก เนื่องจาก

1. ตระกร้าสินค้าที่แตกต่างกันของคนรายได้สูงและคนรายได้น้อย มีแนวโน้มทำให้ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบคนรายได้ต่ำมากกว่า โดยเมื่อแบ่งครัวเรือนเป็น 5 กลุ่มครัวเรือน รายได้น้อยที่สุดจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในอาหาร 49% ในขณะที่กลุ่มคนรายได้สูงจะใช้จ่ายไปกับค่าอาหารในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือประมาณ 31% เนื่องจากมีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการอื่น ๆ ด้วย

2. ธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่ขึ้นราคาไม่ได้ ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนธันวาคม เติบโตขึ้นแล้วประมาณ 8% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเติบโตเพียงประมาณ 2% เท่านั้นสะท้อนการส่งผ่านราคาที่ยังทำได้น้อยในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว

KKP Research มองว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่นโยบายการเงินไทยเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ในสถานการณ์ที่วัฏจักรเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากวัฏจักรเศรษฐกิจโลก ทำให้การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบาย ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจ และการดูแลเงินเฟ้อ โดยมีความท้าทายใน 3 มิติ คือ

1) เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา 2) อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และส่งผ่านมาที่ไทย 3) อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ จะเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจในไทยสูงขึ้นตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไม่ได้ อาจทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลออกมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า และกระทบเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกได้

“ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด และยังเชื่อว่าเงินเฟ้อในปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถกลับเข้ามาได้ตามคาด” รายงานระบุ

ทั้งนี้ KKP Research แนะติดตามความเสี่ยงสำคัญตามสำหรับปี 2565 คือ

1) การตึงตัวของตลาดแรงงานจากภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เพราะจำนวนแรงงานของไทยที่ลดลงต่อเนื่องอยู่แล้วจากปัญหาสังคมสูงอายุ การย้ายกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด และการเร่งกลับมาเปิดเมืองในปีนี้ที่อาจทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็ว เกิดแรงกดดันจากค่าจ้างแรงงาน ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเจอเงินเฟ้อแบบยืดเยื้อ

2) เงินเฟ้อโลกสูงกว่าที่คาดมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

3) เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าคาด แม้หลายฝ่ายจะคาดว่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าในปีนี้ แต่ KKP Research มองว่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงขาดดุล และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่มากขึ้น จะทำให้บาทผันผวนและอาจอ่อนค่าลงได้

“ความเสี่ยงที่กล่าวมา จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะกลับมาส่งผลสำคัญให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ได้” รายงานระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top