เพื่อไทยแนะรัฐยกเลิกกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ชี้เป็นกองทุนการเมือง

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย อภิปรายประเด็นเรื่องเศรษฐกิจว่า ในปี 63 ทั่วโลกเผชิญเงื่อนไขเดียวกันคือการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ แต่เศรษฐกิจไทยตกต่ำหนักที่สุด โดย GDP ติดลบ 6.1% และในปี 64 เริ่มมีการเปิดเมือง เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่เศรษฐกิจไทยกลับโตไม่ถึง 1% ประชาชนมีรายได้น้อย ของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก็ให้สัมภาษณ์ว่าน้ำมันแพงนั้นแพงทั่วโลก ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ไม่ผิด แต่ประเทศอื่นเขามีผู้นำที่บริหารให้ประชาชนมีรายได้สูงได้ ซึ่งของแพงเขาก็ไม่เดือดร้อน

“หลายประเทศกำลังพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้ของแพง กลับมาดูประเทศไทย นายกฯ บริหารเศรษฐกิจได้โอเคมากๆ โอเค คือตกลง ตกลงมาเรื่อยๆ ประชาชนรายได้น้อย ของแพงก็เกิดจากราคาน้ำมันแพง” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำมันแพงในอดีต จะมีการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในระดับสูงมาก ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มรถบรรทุกได้ออกมาประท้วง ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าใครเดือดร้อนจากน้ำมันแพงบ้าง ซึ่งประชาชนทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด

พร้อมมองว่า รมว.พลังงาน ไม่สมควรดำรงตำแหน่งนี้ เนื่องจากมองไม่เห็นมุมมองความเดือดร้อนของประชาชน เพราะอดีตเคยมีความเกี่ยงข้องกับนายทุนใหญ่มาก่อน

ปัจจุบัน รัฐบาลใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ในการแก้ปัญหาตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันมาอุดหนุนน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 3.79 บาท เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา สถานะกองทุนน้ำมันติดลบ 16,052 ล้านบาท ที่สำคัญรัฐบาลกลัวกระสุนหมด จึงตุนกระสุนไว้โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายวงเงินเตรียมกู้เงินอุดกองทุนน้ำมันอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าราคาน้ำมันยังสูงต่อไป กองทุนน้ำมันกู้เงินก็เหมือนรัฐบาลกู้เงิน แต่คนที่เดือนร้อนต้องมาชดใช้ก็คือประชาชนทุกคน โดยเมื่อราคาน้ำมันโลกลดลง แต่คนไทยนั้นยังต้องจ่ายค่าน้ำมันในราคาแพงอยู่ เพื่อชดเชยโปะหนี้ของกองทุนน้ำมัน

“เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมมาเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้กองทุนฯ กู้ แต่ปรากฎว่าวันนี้กลับมาใช้นโยบายตัดแปะ คือไปลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งน่าแปลกว่าท่านกู้ไม่ได้แล้ว หรือมีปัญหาหนี้สาธารณะ กู้เงินชนเพดานแล้ว หรือต้องการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันก่อนวันอภิปรายของฝ่ายค้านไม่กี่วัน ที่สำคัญลดภาษีไป 3 บาท ไปโปะกองทุนน้ำมัน แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย เพราะราคาน้ำมันดีเซลยังตรึงไว้ที่ 30 บาทเช่นเดิม” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลนำเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกองทุนนี้ถูกบรรจุไว้ในโครงสร้างราคาน้ำมัน เมื่อเก็บเงินเข้ากองทุน และเมื่อกองทุนเหลือเยอะ รัฐบาลก็ควรลดการจัดเก็บ แล้วนำเงินส่วนที่เหลือไปรักษาระดับราคาน้ำมันช่วยประชาชน ซึ่งปรากฎว่าตั้งแต่ปี 59-61 รัฐบาลนำเงินออกจากกองทุนน้ำมัน 20,087 ล้านบาท ไปเป็นรายได้ของแผ่นดิน

ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ถูกเปิดเผยโดยทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาล ซึ่งผิดทั้งจรรยาบรรณ ธรรมมาธิบาล และอาจจะผิดกฎหมายด้วย ซึ่งหากเป็นความจริง ก็ขอเสนอให้นายกฯ สั่งการให้กระทรวงการคลังคืนเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทนี้ หรือนำเงินนี้ไปโปะกองทุนที่กำลังขาดทุนอยู่ขณะนี้แทน

สรุปได้ว่า กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ถือเป็นกองทุนเพื่อการเมืองโดยแท้ เวลาจะประกาศให้หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จะประกาศแบบฉุกละหุก และมีพิรุธ รายใหม่ไม่สามารถเสนอโครงการได้ทัน เสมือนเอื้อประโยชน์ให้ขาประจำ และโครงการเหล่านี้ถูกตรวจสอบความผิดปกติหลายโครงการ ดังนั้น จึงเสนอให้นายกฯ ยกเลิกการจัดเก็บเงินกองทุนนี้ ออกจากโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันก็จะลดลงทันที

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้มีความพยายามในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงมาตลอด แต่ตอนนี้วิกฤติของน้ำมันแพงกำลังจะยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 91-92 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และการดำเนินการแก้ปัญหาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้

“หลายฝ่ายมีการเสนอแนวทางให้รัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำมันแพง แต่รัฐปฏิเสธมาตลอด ขอเสนอให้รัฐปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เสนอให้ภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลลดลง 5 บาท แต่รัฐลดลงเพียง 3 บาท ซึ่งลดน้อย ลดช้า และลดแค่ 3 เดือน แต่แนวโน้มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่ลดเท่านี้จะไม่เกิดประโยชน์ ราคาน้ำมันเมื่อสูงขึ้น ของแพงขึ้น สุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะจัดเก็บได้น้อย เพราะห้างร้านขายของได้น้อย ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็จะจัดเก็บได้น้อยอยู่ดี ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้องคือลดภาษีตอนนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้ข้าวของแพง” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ราคาหน้าโรงกลั่น ที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันในไทยนั้น มีความผิดปกติ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรแก้ไขได้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจในการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่น เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ปัจจุบันกลั่นน้ำมันในประเทศรวมทั้งสิ้น 6 โรง กลั่นในประเทศไทย แต่ตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเสมือนว่ากลั่นที่ประเทสสิงคโปร์ จึงใช้คำว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อตั้งราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แล้ว ยังบวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาประเทศไทย มีราคาค่าประกันภัย และค่าการสูญเสียระหว่างทางจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นลาภลอย ซึ่งถ้ากำหนดราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เพียงอย่างเดียวยังถือว่ารับได้ แต่ลาภลอยหากคิดเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร ในหนึ่งวันประชาชนใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 100 ล้านลิตร รวม 1 ปีกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“ลาภลอยที่ตกอยู่ในมือใครบ้าง ขอตั้งข้อสังเกตว่า 5 โรงกลั่นมีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มคนเดียวกัน โดยกลุ่มคนนี้คือบริษัทพลังงานที่รมว.พลังงาน คนปัจจุบันเคยนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล้วท่านจะมีความกล้าหาญพอไปแก้ปัญหาโรงกลั่นหรือ นอกจากนี้ ราคาที่ไทยส่งออกน้ำมันนั้น ก็มีราคาถูกกว่าราคาขายในประเทศ ซึ่งก็ทำให้บางบริษัทได้ประโยชน์อีก” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top