นายกฯ ยันต่อใบอนุญาตเหมืองทองอัคราฯ เป็นไปตามกม. ปัดแลกเปลี่ยนผลประโยชน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงเรื่องคดีเหมืองทองอัครา ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในวันที่สอง โดยระบุว่า รัฐบาลในปี 2554 ได้มีการระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลงยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เป็นปัญหาฟ้องร้องเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาต ซึ่งในกระบวนการของศาลปกครอง และยังมีข้อร้องเรียนจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษที่ตกค้างจากการทำเหมือง

ทั้งนี้ ในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่ ปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และ คสช.เข้ามาบริหารในช่วงที่บ้านเมืองไม่ปกติ รัฐบาล คสช.ได้พิจารณาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม และมีข้อโต้แย้งเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตขาดความรัดกุม และเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อประชาชน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ.ประกอบกิจการเหมืองแร่ และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมือง เพื่อลดปัญหาที่หมักหมมมานาน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีบริษัทเอกชนที่สนใจทำเหมืองได้มาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ และถ้าเอกชนมีขีดความสามารถ ทำตามขั้นตอนกฏหมายกำหนด และต้องการขอใบอนุญาตประกอบอาชีพก็สามารถเข้ามายื่นเรื่องตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ก็เป็นบริษัทหนึ่ง ถึงแม้มีผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะมีคดีฟ้องร้องกับรัฐบาลไทย แต่ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิต่อบริษัทอัคราฯ ที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาตได้ ซึ่งใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ที่หมดอายุตั้งแต่ปี 55 และในปี 63 มีอีก 3 แปลงที่จะหมดอายุเพิ่มขึ้นมาอีก ทางบริษัทอัคราฯ ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม เพื่อขอต่อใบอนุญาตในคราวเดียวกันตามกรอบเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งบริษัทได้ทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทอื่นๆ ที่มายื่นขอใบอนุญาต จึงเป็นที่มาของการได้ใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงในปลายปี 64 ซึ่งไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับรัฐบาลทั้งสิ้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ เพียงแต่ให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการเหมืองแร่ฉบับใหม่ให้ถูกต้อง และรัฐบาลปัจจุบันก็พร้อมต้อนรับนักลงทุนที่สามารถปฏิบัติตามกฏหมาย สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และประชาชน และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คดีเหมืองอัครายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จึงขอให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความระวัดระวัง ไม่ให้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ

“คำถามหลายข้อ เกิดจากการอนุมานของผู้อภิปรายเอง ที่พยายามบิดเบือนให้ประชาชนเห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ทุกครั้ง ผมได้ตอบคำถามในการอภิปรายเสมอมา แต่ผู้อภิปรายอาจไม่ตั้งใจฟัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงว่า การเจรจาประนีประนอมเกิดจากคำแนะนำจากอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีต่อข้อพิพาทนี้ เนื่องจากมีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด คู่เจรจาอยู่คนละประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อสรุปในเรื่องนี้ คือการนำไปสู่การเจรจา การเลื่อนการอ่านคำพิพากษา การดำเนินการของฝ่ายไทยเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมายทั้งสิ้น รวมทั้งกฏหมายกำหนดชัดเจนว่าไม่สามารถทำเหมืองในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ พื้นที่เขตปลอดภัย และความมั่นคงแห่งชาติ พื้นที่ป่าต้นน้ำ หรือน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.แร่ ปี 60

สำหรับการใช้มาตรา 44 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งการใช้มาตรา 44 เพื่อเข้าไปตรวจสอบในทุกเหมือง ทุกประเภทให้ดำเนินการในกรอบของกฏหมาย ซึ่งก็มีอีกหลายเหมืองที่ปิด และเมื่อแก้ไขแล้ว ก็สามารถเปิดใหม่ได้ทุกเหมือง แต่เหมืองแร่อัคราอาจไม่เข้าใจกัน และอาจมองว่ารัฐจะเข้าไปยึดเหมือง ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น และขณะนี้ก็มีการเจรจาในอนุญาโตตุลาการ ยังมีการเดินหน้าการลงทุนต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงสาเหตุที่มีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด และมีการเลื่อนออกคำชี้ขาดหลายครั้งว่า ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มเจรจาก่อน แต่เป็นคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ ในระหว่างการไต่สวนข้อพิพาทที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงต้นเดือน ก.พ.63 ซึ่งเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายควรมีการเจรจาตกลงกัน จึงเริ่มมีการเจรจากันในเดือน มิ.ย.63

“การเลื่อนออกคำชี้ขาดที่ผ่านมา ทั้งหมด 3 ครั้ง ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเจรจาลำบากขึ้น และการเลื่อนในแต่ละครั้งเป็นการตกลงของทั้งสองฝ่าย แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่การเจรจามีความคืบหน้า มีทิศทางบวก และเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย” รมว.อุตสาหกรรม ระบุ

ส่วนกรณีที่ น.ส. จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าการเลื่อนออกคำชี้ขาดแต่ละครั้ง จะมีการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทคิงส์เกตฯ ทุกครั้งนั้น เป็นความเท็จ ซึ่งการเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใดๆ

ส่วนที่มีการระบุว่า บริษัทคิงส์เกตฯ จะเจรจาและถอนฟ้องสู้คดีจนถึงที่สุด รวมทั้งอ้างว่าฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้ และเสียค่าโง่ เพราะบริษัท คิงส์เกตฯ ออกแถลงการณ์ว่ามั่นใจจะชนะแน่นอน และที่มีการนำคดีของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ และอ้างว่าบริษัท คิงส์เกตฯ จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายถึง 30,000 ล้านบาทนั้น นายสุริยะ ชี้แจงว่า ข้อมูลงบการเงินของบริษัท อัคราฯ ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศ ตั้งแต่ปี 43-58 เป็นเวลา 15 ปี พบว่ามีกำไร 11,955 ล้านบาท หรือ มีกำไรปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่อ้างว่าบริษัท คิงส์เกตจะได้ค่าเสียหายนั้น บริษัทจะต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี ถ้าบริษัท คิงส์เกตมั่นใจว่าจะชนะคดี และได้รับเงินชดเชย 30,000 ล้านบาท คงไม่ต้องมาเจรจากับฝ่ายไทย

ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ นำผงทองไปขาย เพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น นายสุริยะ ชี้แจงว่า ในอดีตบริษัท อัคราฯ จะนำผงทองคำและเงินที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ ซึ่งช่วงที่ คสช.ระงับการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 บริษัท อัคราฯ มีผงทอง ผงเงิน ค้างอยู่ในกระบวนการผลิต และต่อมาวันที่ 9 ส.ค. 60 คณะกรรมการนโยบายบริหารการจัดการแร่ มีมติยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราวตามที่คสช.ได้สั่งการไว้

ดังนั้น ในหลักการบริษัท อัคราฯ ก็สามารถนำผงทองคำและผงเงินที่เหลือ ไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้อย่างที่เคยปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกกับค่าชดเชยในคดีอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top