บสย.ตั้งเป้าปี 65 ยอดค้ำประกัน 1.2 แสนลบ. เล็งถกคลังเดินหน้า Micro 5, PGS 10

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยทิศทางและแผนดำเนินงานปี 2565 ว่า ในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพิ่ม 40% จากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมียอดเคลมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท จากยอดค้ำประกันสินเชื่อในปีที่ผ่านมาที่ 2.45 แสนล้านบาท

พร้อมกันนี้ คาดว่าภายในไตรมาส 2/2565 บสย. จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขออนุมัติเดินหน้าโครงการค้ำประกัน Micro 5 วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประมาณไตรมาส 3-4/2565 มีแผนจะขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง เดินหน้าโครงการค้ำประกัน PGS 10 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป

นายสิทธิกร กล่าวว่า ในปี 2565 จะยกระดับองค์กรก้าวสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ภายใต้แนวคิด TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs ขับเคลื่อนองค์กรด้วย digital Technology สร้าง Financial Platform เป็นเครื่องมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของ บสย.เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ครอบคลุมถึงการขยายบทบาท บสย. สู่ Digital Credit Enhancer เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้กลยุทธ์ 3 N ได้แก่

1. New Engine พัฒนาผลิตภัณฑ์ ค้ำประกันสินเชื่อเจาะเฉพาะกลุ่ม (Segmentation) รูปแบบผสมผสาน (Hybrid Products) ระหว่างผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเชิงพาณิชย์ของ บสย. (Commercial Product) และผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (PGS 9) และการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs แบบเฉพาะกลุ่ม (Segmentation)

2.New Culture ก้าวสู่วัฒนธรรมองค์กรใหม่ บสย. TCG Fast & First เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs รวดเร็วเหมือน Fintech Company และรอบคอบ เหมือนสถาบันการเงิน พร้อมการปรับกระบวนการทำงานภายในที่ขับเคลื่อนด้วย digital Technology

3.New Business Model ด้วย Digital Platform พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital Gateway เชื่อมโยงธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ กับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทุกแพลตฟอร์ม ผ่าน Digital Touchpoint ในรูปแบบ O2O ( Online to Online Lending) อาทิ Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC และ e-Statement ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าและได้มาตรฐานการบริหารจัดการ Good Governance

นายสิทธิกร กล่าวว่า สำหรับแผนดำเนินงาน ปี 2565 บสย.จะให้ความสำคัญกับ 4 แนวทาง คือ

  1. สร้างสรรค์นวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ในรูปแบบ Hybrid Guarantee ผสมผสาน เชื่อมโยง ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกการเงิน พร้อมสร้าง Financial Platform ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มผู้ค้า Online
  2. เพิ่มสัดส่วนคุ้มครองความเสี่ยงให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9
  3. จัดทำโครงการพิเศษในโอกาส บสย.ครบรอบ 30 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 3 ปี และอัตราความคุ้มครอง 30% สำหรับลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ ลดต้นทุนธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
  4. ขยายบทบาท 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มุ่งสู่ Digital Credit Enhancer เพื่อเพิ่มโอกาสเติมเต็มศักยภาพทางการเงิน และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ 2.เพิ่มบทบาทการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center

นายสิทธิกร ยังกล่าวถึงผลประกอบการของ บสย. ในปี 2564 ว่า ได้สร้างสถิติค้ำประกันสูงสุดในรอบ 29 ปี วงเงิน 245,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เทียบกับปี 2563 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 226,312 ราย เพิ่มขึ้น 36% ก่อให้เกิดสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย มูลค่า 261,545 ล้านบาท หรือ 1.06 เท่าของยอดการค้ำประกัน และเกิดการจ้างงานใหม่ มากกว่า 400,000 ตำแหน่ง รักษาการจ้างงาน มากกว่า 2,000,000 ตำแหน่ง

โดยในปี 2564 บสย.ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในระบบให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกัน PGS 9 จำนวน 81,721 ล้านบาท 2.โครงการค้ำประกัน Micro 4 เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 20,527 ล้านบาท 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชกำหนดสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 130,943 ล้านบาท และ 4.โครงการอื่นๆ ของ บสย. จำนวน 12,356 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top