Decrypto: “ห้ามใช้จ่ายด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ความหวังดีที่อาจไม่สู้ดี”

เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) โดยมองว่าการที่ปัจจุบันมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการนั้น หากมีการใช้เป็นวงกว้าง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงมากมายไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน นอกจากนี้ การใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นควรใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนเท่านั้น

จากการศึกษาจุดยืนและแนวของของ ธปท. พบว่าค่อนข้างไม่สนับสนุนให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินบาท โดยไม่ได้อนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ รวมถึงยังผลักดันให้ ก.ล.ต.ออกกฎเกณฑ์มากำกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 อีกด้วย

อนึ่ง ธปท. อาจพิจารณาผ่อนคลายให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่มีการใช้สินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทเป็นหลักประกันในการออกสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ มาใช้งานในลักษณะดังกล่าวได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ e-Money (แต่ในปัจจุบันยังไม่อนุญาต ซึ่งต้องรอความชัดเจนต่อไป)

ต่อมา ก.ล.ต. ก็ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการออกกฎเกณฑ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นการออกกฎเกณฑ์มาเพื่อควบคุม “เฉพาะ” ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาโดยมีเนื้อหาพอสังเขป คือ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องไม่ดำเนินการสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

– ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้

– ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้สินทรัพย์ฯ ชำระค่าสินค้าหรือบริการ

– ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นเงินบาท ผู้ประกอบธุรกิจต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีที่เปิดด้วยชื่อของผู้ซื้อขายเองเท่านั้น

– ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเงินจากบัญชีของผู้ซื้อขายไปยังบัญชีของผู้ซื้อขายรายอื่นหรือบุคคลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

– ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

หากผู้ประกอบธุรกิจพบว่ามีลูกค้าที่ทำลักษณะดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งเตือนว่าดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรืออาจพิจารณาระงับหรือยกเลิกบัญชี

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตีความที่น่าสนใจไว้ว่า

การพิจารณาการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการในครั้งนี้จะเน้นไปที่การควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มที่เป็น Cryptocurrency และ Utilility Token พร้อมใช้เป็นหลัก

ในส่วนโทเคนที่ได้มีการออก ICO และได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.แล้วนั้น สามารถนำมาใช้ในการรับชำระสินค้าและบริการได้ เช่น การออกเหรียญ JFin ที่ไม่ถือว่าเข้าข่ายเนื่องจากเป็นเหรียญที่ผู้ประกอบการเป็นคนออกเอง และมีการใช้ในกลุ่มของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ออกเหรียญ

หากกลุ่มผู้ค้ารายย่อยทั่วไปที่มีการเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Cryptocurrency ถือว่ายังสามารถทำได้ แต่จะต้องไม่เป็นการใช้ในวงกว้าง ซึ่งมีการใช้ในกลุ่มเล็กๆ แบบวงจำกัดเท่านั้น

จากจุดยืนต่างๆ และกระแสต่างๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เกี่ยวกับการห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระสินค้าหรือบริการนั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตและความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้

อำนาจในการกำกับดูแล : เห็นว่าในมุมของ ธปท. เองก็อาจจะมีอำนาจในการกำกับดูแลเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจสถาบันการเงินต่าง ๆ เท่านั้น แต่อาจยังไม่สามารถเข้ามาห้ามหรือไม่อนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้อย่างเป็นการทั่วไป แต่จะต้องกำกับดูแลผ่าน “ผู้ประกอบธุรกิจ” ต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของตนเอง

เช่นเดียวกัน ก.ล.ต. เองก็สามารถกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวได้เพียง “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” เท่านั้น การที่จะขยายอำนาจของตนเองไปกำกับดูแลบุคคลทั่ว ๆ ไปนั้นดูจะเป็นการยากในเชิงการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมาย

ความสัมฤทธิ์ผลในการบังคับใช้กฎหมาย : เมื่ออำนาจในการกำกับดูแลของ ธปท. และ ก.ล.ต. ดูค่อนข้างจะจำกัดแล้ว การที่แต่ละหน่วยงานออกกฎหมายมากำกับเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจภายใต้บังคับของตนเองนั้น ก็อาจไม่ใช่หลักประกันว่าผลลัพธ์จากการออกกฎหมายต่าง ๆ มานั้น จะส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ของตนเองได้ กล่าวคือ การห้ามเพียงผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ก็ยังไม่ได้แปลว่าบุคคลธรรมดาต่าง ๆ จะไม่สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ อาทิ การเลี่ยงไปใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ การชำระค่าสินค้าและบริการในลักษณะ peer-to-peer มากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้สิ่งที่พยายามจะให้อยู่ในการสอดส่องดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลนั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น และไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่องการยอมรับและการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะที่เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าหรือบริการ

การรองรับผลของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ : หากจะพิจารณาจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กำหนดนิยามของ “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด และ “โทเคนดิจิทัล” ก็มีนิยามส่วนหนึ่งที่ระบุว่าเป็นสิ่งที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง และมาตรา 9 ก็ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องรับค่าตอบแทนการให้บริการที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าโดยธรรมชาติแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นถูกสร้างขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งคือการใช้เป็นสื่อกลางในกลางแลกเปลี่ยน หรือชำระค่าสินค้าหรือบริการนั่นเอง

นอกจากนี้ หากจะพิจารณาถึงเสรีภาพของบุคคลในการจะใช้ทรัพย์สินตัวเองในการชำระหนี้นั้น ก็เป็นเสรีภาพของประชาชนในการใช้สอยทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 25 และ 37 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวมถึงมาตรา 321 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า หากเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันว่าจะชำระหนี้เป็นอย่างอื่นก็ให้หนี้ระงับไป จึงยิ่งเป็นสิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตในเชิงนิติศาสตร์ว่าการห้ามใช้ดังกล่าวนั้นได้สัดส่วนกับสิ่งที่ต้องการคุ้มครองหรือไม่

ความไม่สอดคล้องของนโยบายของภาครัฐ : มีข้อสังเกตว่าระหว่างความเห็นและแนวทางของ ธปท. และ ก.ล.ต. เอง ยังอาจไม่สอดคล้องกันทั้งหมด อาทิ ในมุมของ ธปท. ต้องการที่จะห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระสินค้าหรือบริการทุกประเภท แต่ในมุมของ ก.ล.ต. นั้นได้วางหลักการไว้ขัดเจนว่าต้องเป็นการใช้งานใน “วงกว้าง” และ “แทนเงินบาท” ด้วย ซึ่งไม่ใช่ทุกกรณีที่จะถูกห้ามใช้

นอกจากนี้ จากการศึกษาก็พบว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้มีการส่งเสริมการลงทุนโครงการที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain / Smart Contract แล้วในประเทศไทยประมาณ 2 โครงการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมในกิจการประเภทที่ “5.10 กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์” ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าในเชิงของรัฐนั้นควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้เป็นที่จูงใจให้ทั้งคนไทย และต่างชาติเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีในส่วนนี้ให้แก่ประเทศไทย รวมถึงล่าสุดที่กรมสรรพากรได้ออกมาตรการผ่อนปรนด้านภาษีทั้งด้าน VAT, การยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงการนำกำไรหักลบขาดทุนในการคำนวณภาษีได้หากมีการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในเชิงนโยบายหน่วยงานรัฐเองยังคงมีความขัดแย้งกันพอสมควรในการส่งเสริมหรือปิดกั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ หรือความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศไทยได้ในอนาคต

รูปแบบในการกำกับดูแล : ผู้เขียนมองว่าควรเปิดให้มีการทดลองสินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด (regulatory sandbox) โดยทดลองในกลุ่มผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. และ ธปท. และเปิดให้ทดลองใช้กับกลุ่มผู้รับบริการที่สามารถรับความเสี่ยงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือกลุ่มสินค้าบางประเภท เช่น ผู้ซื้อสินค้าหรู การซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเวลาจำกัด เช่น 3 เดือน หรือการใช้งานในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ Sandbox จะไม่ใช่สัญญาที่ให้ดำเนินการต่อได้ แต่จะเป็นการทดลองที่เมื่อพบความเสี่ยงสูงก็สมควรให้ยกเลิกใช้งานไปได้

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น จึงทำให้ผู้เขียนขอแสดงความเป็นห่วงถึงแนวทางในการกำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยควรระมัดระวังในการออกกฎเกณฑ์และคำนึงถึงความได้สัดส่วนของสิ่งที่ห้ามและผลลัพธ์ที่ได้รับ เนื่องด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นมาก การที่ห้ามแบบทั้งหมดเช่นนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย และอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ (ทั้งโลก) น้อยลงด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งในทางกลับกันหากสามารถที่จะพูดคุยกัน ศึกษาแนวทางร่วมกัน หรือเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันในสังคมว่าสิ่งใดเป็นข้อดี สิ่งใดเป็นข้อเสียก็อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายมุ่งหวังก็เป็นได้

โมกข์พิศุทธิ์ รตารุณ

หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top