รร. ในสังกัด กทม.พร้อมฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเด็ก 5-11 ปี เริ่ม 28 ก.พ.

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารสำนักการศึกษา สำนักอนามัย 50 สำนักงานเขต ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร 431 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา

นายชวินทร์ เปิดเผยว่า สำนักการศึกษาได้จัดประชุมซักซ้อมแนวทางการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้รับทราบแนวทางการฉีดที่ถูกต้อง และสามารถบริหารจัดการการให้วัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักอนามัยร่วมให้ข้อมูลแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการทำงาน

สำหรับการให้วัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย เด็กอายุ 5-6 ปี ให้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ เด็กอายุ 6-11 ปี สามารถรับวัคซีนได้ 3 สูตร คือ ไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ซิโนแวค 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ และสูตรไขว้ ซิโนแวคและไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์

ทั้งนี้ เด็กที่แจ้งความประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม จะเป็นการรับบริการ ณ สถานศึกษาที่กำหนด สำหรับสูตรอื่นจะมีการนัดหมายเพื่อรับวัคซีนอีกครั้ง เบื้องต้นกำหนดให้บริการในกลุ่มนักเรียนระดับชั้น ป. 6 ก่อน และจะไล่ระดับชั้นลงมาตามลำดับ โดยเริ่มให้บริการกลุ่มแรกในวันที่ 28 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนสูตรใดขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง และการฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์กับเด็กมากกว่า เนื่องจากมีข้อมูลวิจัยว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ดังนั้น ที่ประชุมจึงกำชับให้สถานศึกษาเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงประโยชน์ของวัคซีน สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังฉีดวัคซีน ข้อปฏิบัติของเด็กนักเรียน รวมถึงเน้นย้ำเอกสารจำเป็นที่นักเรียนต้องนำมาแสดงในวันรับวัคซีน ได้แก่ บัตรประชาชน (หากมี) หรือใบสูติบัตร หรือทะเบียนบ้าน ใบแสดงความประสงค์ของผู้ปกครองและแบบคัดกรองที่มีการลงลายมือชื่อของผู้ปกครอง

ในส่วนของหน่วยงานกทม. ได้บูรณาการร่วมกันเพื่อเตรียมพร้อมขั้นตอนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบ่งออกเป็น การเตรียมการก่อนการให้บริการ การให้บริการผ่านโปรแกรม co-vaccine ตามขั้นตอน และการดำเนินการหลังให้บริการ อาทิ การสำรวจกลุ่มเป้าหมายเป็นภารกิจของสำนักการศึกษา การชี้แจงผู้ปกครองจะเป็นภารกิจหลักของโรงเรียน การจัดเตรียมสถานที่เป็นภารกิจของสำนักงานเขต การจัดเตรียมวัคซีนเป็นภารกิจของสำนักอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุข การดูแลหากมีการส่งต่อผู้ป่วยหากเกิดเหตุฉุกเฉินเป็นภารกิจของสำนักการแพทย์ เป็นต้น

“จะจัดสถานที่ฉีดวัคซีน บรรยากาศให้มีสีสันสดใส ลดขั้นตอนปฏิบัติให้กระชับ ไม่ต้องมีการชั่งน้ำหนัก หรือวัดส่วนสูง และมีการอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วยภาษาง่าย เพื่อลดความวิตกกังวลของเด็กและให้เกิดความร่วมมือ”

นายชวินทร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top