รมว.ท่องเที่ยว แจงเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเพื่อดูแล นทท.ต่างชาติกรณีฉุกเฉิน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ.ที่ผ่านมา เรื่องการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คนละ 300 บาทนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยันว่าต้องเรียกเก็บอย่างแน่นอน แม้จะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เริ่มจากทางกระทรวงฯ ในยุคของตนเอง แต่เป็นมติที่ออกมาก่อนหน้านี้

โดยเงินที่ได้จากการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จะนำไปซื้อประกันให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปจัดเก็บเข้ากองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นประธานกองทุน และมีผู้แทนจากอีก 10 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมยืนยันว่า การใช้จ่ายเงินที่ได้มาดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสม และสามารถตรวจสอบได้

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่มาของการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน มาจากกรณีเกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2558 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บด้วย ขณะที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณมาให้สำหรับการเยียวยาชาวต่างชาติในส่วนนั้น ต่อมาเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งกระทรวงฯ ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางไปเพื่อทำการสนับสนุน แต่เมื่อปี 2562 สำนักงบประมาณได้แจ้งมาทางกระทรวงฯ ว่า จะไม่จัดงบประมาณสำหรับการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาให้ทางกระทรวงฯแล้ว ทำให้ทางกระทรวงฯ ต้องหาวิธีจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเป็นกองทุนเพื่อการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย จึงมีการนำเสนอเรื่องการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เมื่อปี 2562

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่าตั้งแต่ปี 2559-2561 กระทรวงสาธารณสุขต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 300 กว่าล้านบาทไปชำระค่ารักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ถ้ามีเงินกองทุนในส่วนนี้ให้ไปซื้อประกันแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะทำให้ไม่ต้องไปรบกวนเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนคนไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top