เพื่อไทย ยื่นร่างแก้รธน. 3 ฉบับ กำหนดนายกฯ ต้องมาจากส.ส.-ไม่ปิดสวิตซ์ส.ว.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 จำนวน 3 ฉบับ

ฉบับแรกแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ซึ่งแก้ไขให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 คือให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯได้ แต่ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา 170(2) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นการเฉพาะ ให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุอันสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.ด้วย

ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน โดยเพิ่มเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการใดๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน รวมถึงผ่านการประเมินคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังแก้ไขในมาตรา 47 เพิ่มเติมให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมีคุณภาพ เท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า และ 48 เรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

ฉบับที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตามมาตรา 29 เรื่องสิทธิประกันตนตามกฎหมายอาญา ให้ครอบคลุมเข้าถึง รวมถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับความคุ้มครอง ส่วนสิทธิการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ เราเพิ่มเติมให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญกับ 3 ร่างฯ จึงเสนอเข้ามาในสมัยประชุมนี้ ส่วนจะได้รับการพิจารณาบรรจุในระเบียบวาระเมื่อใดนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอน

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทั้ง 3 ร่างฯ จะผ่านกระบวนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เงื่อนไขที่จะเป็นปัญหาไม่ให้รับหลักการร่างฯ 3 ฉบับนี้แทบจะไม่มี เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง แต่ทำเพื่อประชาชน และระบอบประชาธิปไตย ให้ที่มาของนายกฯชัดเจน ไม่มีใครได้รับผลกระทบ ส่วนที่ไม่ได้เสนอแก้ไขมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกฯ นั้น เดิมเราจะเสนอในนามพรรคการเมือง แต่เมื่อตรวจสอบร่างฯ ของภาคประชาชนแล้วมีความสมบูรณ์ที่รัฐสภาจะรับได้ ถ้าพรรคการเมืองเสนอแก้ไขมาตรานี้อาจจะทำให้เป็นประเด็นจึงตัดออก และสนับสนุนร่างฯภาคประชาชนอย่างเต็มที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top