สภาพัฒน์ เผย Q4/64 อัตราว่างงานต่ำสุดในรอบปีครึ่ง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังเพิ่ม

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 64 พบว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/64 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2/63 สำหรับภาพรวมปี 64 การจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/64 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการลดลงของกำลังแรงงาน ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% รวมถึงปีก่อนหน้าที่ 98% สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านการจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 12.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3% จากการเลื่อนการเพาะปลูกจากไตรมาส 3/64 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมาเป็นไตรมาสปัจจุบัน และแรงจูงใจจากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนนอกภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 25.3 ล้านคน ลดลง 2.1% จากการลดลงของการจ้างงานในสาขากิจการโรงแรมและบริการอาหาร ซึ่งลดลง 7.9% สาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานลดลง 6.9% รวมทั้งสาขาการผลิต ที่การจ้างงานลดลง 1.2% โดยเป็นการลดลงในสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง

ขณะที่สาขาส่งออก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวนทั้งสิ้น 4.4 แสนคน ลดลง 14.1% และผู้เสมือนว่างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 3.2 ล้านคน

ทั้งนี้ การว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ใตรมาส 2/63 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน เป็นการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ที่ลดลง 21.7% ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานจบใหม่ทั้งหมด การว่างงานในระบบปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ 2.27% ลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน

สำหรับสถานการณ์แรงงานปี 64 การจ้างงาน มีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ 1.8% จากการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาทำงานในสาขานี้ ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมการจ้างงานลดลง 0.6% เป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาการขนส่งที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.7%

ด้านชั่วโมงการทำงานภาคเอกชน เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 94.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่การทำงานต่ำระดับยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.93% เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.69% ในปี 63 จากผลกระทบที่สะสมตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดี การว่างงานในระบบที่สะท้อนจากผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ

1. การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่ต้องเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยมาตรการทางเศรษฐกิจ ต้องเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่ม SMEs ที่มีการจ้างงานมากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด รวมทั้งการสร้างงานในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด

2. การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาก (ทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างและช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องมีมาตรการจูงใจให้แรงงานกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคง

3. ภาระค่าครองชีพของประชาชน จากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4/64 ส่งผลให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งระยะต่อไป ต้องติดตามระดับราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่

4. การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ หรือการปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษา และผู้ว่างงานระยะยาวที่ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง รวมทั้งแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้แรงงานสามารถยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม โดยจะนำมาซึ่งการมีรายได้ที่มั่นคง และช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

“การจ้างงานในขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่เสถียรดีนัก การแพร่ระบาดของโอมิครอนยังสูงขึ้น ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตแค่ประมาณ 42 รายต่อวัน แต่ความรู้สึกของคนยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว และยังไม่กล้าเปิดเหมือนระบบปกติ ทั้งนี้ ได้มีการเปิดระบบเศรษฐกิจที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคระบาด ไม่เหมือนช่วงแรกที่ปิดระบบทั้งหมดเลย ดังนั้นคาดว่าแนวโน้มน่าจะดี แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป”

น.ส.จินางค์กูร กล่าว

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงภาวะหนี้สินครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3/64 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิด NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาส 3/64 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 89.3% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้

“หนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ได้มีมาตรการของภาครัฐ ที่บริหารจัดการหนี้สินให้ไม่เป็นภาระกับผู้ที่เดือดร้อน ทั้งมาตรการทำโครงสร้างหนี้ใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมาตรการควบคุมสินเชื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก่อหนี้ หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ทำให้ประชาชนสามารถหายใจได้ดีขึ้น”

น.ส.จินางค์กูร กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 1. ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธ.ค. 64 เกินเป้าหมายที่ 30,000 คัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และ 2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ 1. การเร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไมให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และ 3. การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน

“ในภาพรวม มีมาตรการผ่อนคลายเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการจัดการหนี้ได้ประมาณหนึ่ง รวมถึงเรื่องรถยนต์ด้วย อย่างไรก็ตาม การจ้างงานยังไม่กลับสู่สภาพเดิม อัตราการว่างงานถึงแม้จะลดลง แต่ยังไม่ลงมาถึงระดับอัตราเดิม ดังนั้น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยยังคงได้รับผลกระทบอยู่ ทั้งเรื่องรายได้ของตนเอง และรายจ่าย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้”

น.ส.จินางค์กูร กล่าว

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาส 4/64 และภาพรวมของปี 64 ว่า ลดลงและสถานการณ์สุขภาพจิตมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ของประชากรวัยเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง โดยในไตรมาส 4/64 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 67.9% เป็นการลดลงในทุกโรค โดยลดลงอย่างชัดเจนที่สุดในผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่ลดลงกว่า 95.8% ส่งผลให้ในภาพรวมปี 64 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 54.5% จากปี 63 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง และรักษาสุขภาพของอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังเป็นซึมเศร้ากว่า 46% ที่ละเลยและไม่ทราบแนวทางการจัดการความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษา และการสร้างความรู้ถึงแนวทางในการจัดการปัญหาความเครียด เพื่อลดความรุนแรงและนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายต่อไป

ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ของประชากรเด็ก ซึ่งยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการป้องกันโรคส่วนบุคคล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top