สธ. แจงหลักเกณฑ์ UCEP Plus และการเข้ารับรักษาโควิดตามสิทธิที่ประชาชนมี

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ UCEP Plus ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.65 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด คือ หากติดเชื้อโควิด-19 และมีการประเมินอาการแล้วว่าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากโรงพยาบาลจะเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยให้รักษาตามสิทธิที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม เป็นต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรักษาในระบบ Home Isolation (HI) Community Isolation (CI) หรือระบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล หรือผู้รับผิดชอบได้

“UCEP Plus จะทำให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยหนัก และสามารถให้บริการโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต การออกหลักเกณฑ์ UCEP Plus เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการมากได้รับการดูแล และได้รับความสะดวก โดยไม่ต้องไปดิ้นรนหาเตียง หากมีอะไรไม่สะดวก ทุกหน่วยงานมีสายด่วน ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สามารถติดต่อสายด่วน 1426 กรณีมีปัญหาเรื่องการรับบริการของสถานพยาบาลเอกชน เน้นย้ำว่าการป้องกันตนเองดีที่สุด หากเจ็บป่วยให้ติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิก่อน เพราะจะรู้ข้อมูลของผู้ป่วยอยู่แล้ว” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคโควิด-19 สำหรับ UCEP Plus หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง จะต้องมีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการ เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น, หายใจลำบาก, มีอาการซึมลง, มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง, มีภาวะหายใจเร็ว, มีภาวะออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94% หรือเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หรือผู้คัดแยกอาการ

สำหรับขั้นตอนการใช้บริการ ผู้ป่วยสามารถติดต่อ โทร 1669 หากเข้าโรงพยาบาลของรัฐ ก็จะเป็นไปตามสิทธิการรักษาปกติ แต่หากเข้าโรงพยาบาลเอกชนเข้าสู่ระบบ UCEP Plus โดยจะมีการประเมินเบื้องต้น และโรงพยาบาลจะส่งรายละเอียดข้อมูลอาการในโปรแกรม Pre-Authorization (PA) ไปยัง สพฉ. หาก สพฉ. เห็นว่าเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ก็จะได้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ สพฉ. ได้เตรียมศูนย์ประสานสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีมีข้อติดขัดหรือสงสัยเรื่องการใช้สิทธิ สามารถติดต่อ โทร 02-8721669

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับ UCEP Plus หากติดเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้ป่วยสีเขียว ผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเดินทางไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้เลย และสามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลปฐมภูมิที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่เป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกรายการ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ยกเว้นรายการเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ UCEP Plus ได้เพิ่มเติมกรณีหากช่วง 2-3 วันแรกผู้ป่วยมีอาการน้อย หรือเป็นผู้ป่วยสีเขียว แต่ต่อมาผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง หากโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพในการรักษา สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นทั้งของรัฐ และเอกชนได้ทันที

“ย้ำว่าการรักษาทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย หากประชาชนท่านใดไปรักษาแล้วพบว่ามีค่าใช้จ่าย สามารถแจ้งไปยังสายด่วน สปสช. โทร 1330 ได้เลย” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวถึงจำนวนสายที่ประชาชนติดต่อมายัง 1330 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เคยทำสถิติสูงสุด 70,300 สายต่อวัน ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคู่สาย และระดมพนักงานมารับโทรศัพท์เพิ่ม สำหรับคู่สายที่มีอยู่ปัจจุบัน มีทั้งหมด 3,200 คู่สาย โดยวานนี้ (8 มี.ค. 65) สายที่ติดต่อเข้ามาลดลง อยู่ที่ 44,447 สาย ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ สายที่ติดต่อไม่ได้ หรือสายหลุด (Abandon) เคยมีสถิติสูงสุดถึง 34% แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ Abandon จึงลดลงเหลือเพียง 13% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนติดต่อ 1330 ไม่ได้ หรือรอสายนาน สามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ของสปสช. หรือแอดไลน์สปสช. ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อประชาชนติดต่อมายังสปสช. จะมีการจับคู่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่จะให้บริการประชาชน แต่เนื่องจากปริมาณคนไข้มีจำนวนมาก จึงอาจทำให้การติดต่อจากหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลดำเนินการได้ช้า ดังนั้น ประชาชนสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ได้ โดยการเดินทางไปยังโรงพยาบาล หรือคลินิกโรคทางเดินหายใจ เพื่อรับการประเมินอาการ และรับยารักษา ซึ่งตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมาหลังจากเริ่มมีการใช้ระบบ OPD ทำให้ผู้ป่วยที่ติดต่อมายัง สปสช. ลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ในระบบยังมีผู้ป่วยค้าง ยังไม่ได้รับการติดต่ออีกประมาณ 6,000-7,000 ราย ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ 1330 จะติดต่อกลับไปยังผู้ป่วยทุกราย เพื่อซักถามอาการ และส่งยาให้ตามความจำเป็น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. เป็นต้นไป โดยคาดว่าในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะสามารถส่งยาได้ครบในกลุ่มนี้

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า สำหรับผู้ประกันตน หากมีสิทธิการรักษาใด ก็สามารถใช้สิทธินั้นได้เหมือนเดิม โดยหากมีอาการเล็กน้อย หรือผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลในคู่สัญญาของประกันสังคม เช่น หากใช้สิทธิประกันสังคมอยู่โรงพยาบาล ก. แต่เดินทางไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ และติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นคู่สัญญาของประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ จนสิ้นสุดการรักษา

“ในส่วนของค่าใช้จ่าย ประกันสังคมมีหน้าที่ดูแลให้ทั้งหมด ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าต้องจ่ายเพิ่ม ส่วนกรณีที่ติดโควิด-19 และมีอาการหนัก หรือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ หากมีปัญหาใดๆ สามารถติดต่อสายด่วน 1506 กด 1 สายกลาง หรือ กด 6 หรือกด 7” นายบุญสงค์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top