ดัชนี KR-ECI ก.พ.ปรับดีขึ้นชั่วคราว คาดปัญหารัสเซีย-ยูเครนจะกดดันระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนก.พ. ในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า ปรับดีขึ้นอยู่ที่ 33.9 และ 36.0 จากมาตรการภาครัฐที่ทยอยออกเพื่อมาบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 ที่เลื่อนขึ้นมาเร็วกว่ากำหนดเดิม และการปรับลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ในเดือนก.พ. ระบบ Test&Go ได้เปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง และเป็นช่วงเริ่มโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ระยะที่ 4

ทั้งนี้ ดัชนีปรับดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ แม้ว่ารายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนก.พ. จะระบุว่าระดับดัชนีราคาในหมวดอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านปรับเพิ่มขึ้นที่ 5.75% และ 5.29% YoY แต่ผลสำรวจ KR-ECI บ่งชี้ว่าความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาอาหารและเครื่องดื่ม (ของรับประทาน) ลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งคาดว่ามาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 ของภาครัฐช่วยบรรเทาผลกระทบหรือความกังวลจากราคาอาหารที่ปรับขึ้นได้ เนื่องจากพิจารณายอดสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้าของมาตรการคนละครึ่งพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ได้ใช้จ่ายไปกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในส่วนของพฤติกรรมการใช้จ่ายเทียบกับเดือนก่อน พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายลดลงกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปใช้สินค้าที่มีราคาถูกลงหรือลดค่าใช้จ่ายลง เพราะกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินทองในอนาคต จึงได้เริ่มลดค่าใช้จ่ายในปัจจุบันลง ดังนั้นแม้ดัชนีปรับดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ แต่ภาพรวมครัวเรือนยังคงมีความกังวลจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีฯ ในรอบเดือนก.พ. จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 ก.พ.65 ซึ่งยังไม่ได้เกิดผลกระทบจากการยกระดับของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ในช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นความสอดคล้องกันระหว่างรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนจำนวน 33.8% ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายรายเดือน และในสัดส่วนนี้ครัวเรือนส่วนมาก (35.2%) ต้องการรายได้เพิ่มอีกประมาณ 10-20% เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย (ยังไม่เหลือเก็บออม)

“ผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนความเปราะบางของครัวเรือนกว่า 70% ของการสำรวจว่าไม่มีเงินเก็บออม (ครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ต่อเดือนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 บาท)” เอกสารเผยแพร่ระบุ

ในระยะข้างหน้า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าครัวเรือนมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะราคาสินค้าที่สูงลากยาวจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงครึ่งปีหลังนี้ ขณะที่ภาครัฐยังทยอยออกมาตรการมาแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ต่อเนื่อง

ล่าสุดมีการกล่าวถึงโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 5 ซึ่งจะมีการประเมินหลังสิ้นสุดระยะที่ 4 (เม.ย.65) นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ได้กระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่อาจเป็นตัวซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีความเปราะบางมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top