สำนักงบฯ-สภาพัฒน์ ตีตกพาณิชย์ขออนุมัติงบชดเชยทำโครงการปุ๋ยราคาถูก

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและราคาปุ๋ยเคมีอย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับราคาขายปุ๋ยเคมี เพราะต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศนั้น นายจุรินทร์ได้สั่งการให้มีการประเมินข้อมูลต้นทุน และราคาแล้ว

“การอนุญาตให้ปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยหรือไม่ จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยคำนึงถึงต้นทุนวัตถุดิบปุ๋ยในตลาดโลกที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อพี่น้องเกษตร และแนวทางเยียวยาผลกระทบควบคู่กันไป ดังนั้น การแก้ปัญหาไม่ใช่จากกระทรวงพาณิชย์หน่วยงานเดียว หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันด้วย” นางมัลลิกา กล่าว

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการลดราคาปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกร โดยขอความร่วมมือผู้ผลิต ผู้ค้าให้ช่วยลดราคาขายให้ โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเลย ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ จะต้องเดินหน้าโครงการต่อเป็นปีที่ 3 และได้ทำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบกลางมาดำเนินโครงการมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 64 ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีความเห็นแย้ง

“สำนักงบฯ บอกว่าไม่ใช่หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่จะลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งๆ ที่นายกฯ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ เราจึงประสานให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอตามข้อแนะนำสำนักงบฯ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการอำนวยการจากสำนักงบฯ จึงจะเปลี่ยนมาใช้งบเงินกู้ แต่สภาพัฒน์ก็แย้งว่า การขอใช้เงินชดเชยในเรื่องปุ๋ย ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการใช้งบเงินกู้ ดังนั้น นายจุรินทร์ จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อนายกฯ เพื่อให้หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป” นางมัลลิกา กล่าว

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะต้องช่วยแก้วิกฤตินี้ให้ตรงจุด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำโครงการลดราคาปุ๋ย โดยไม่ใช้เงินงบประมาณเลย แต่ขณะนี้มีวิกฤติเข้ามาซ้ำ และกระทรวงพาณิชย์อยู่ปลายน้ำ จึงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรให้เดือดร้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ประเทศไทยต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยสำคัญจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมัน และไทยไม่สามารถผลิตได้เอง โดยมีการนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด สัดส่วน 22.5% ตามด้วยซาอุดีอาระเบีย 14.6%, มาเลเซีย 8.8% และรัสเซีย 7.7% และล่าสุดรัสเซียห้ามการส่งออกปุ๋ยแล้ว จึงยิ่งกดดันให้ปริมาณในตลาดโลกน้อยลง และผลักดันให้ราคาสูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top