In Focus: สงครามยูเครนกับเกมการเมืองที่ไม่เคยแผ่วของรัสเซีย-สหรัฐ

การถล่มยูเครนอย่างต่อเนื่องโดยรัสเซีย เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่า หนทางการสร้างสันติภาพผ่านการเจรจาคงจะต้องใช้เวลาไม่น้อย และมอสโกเองไม่ต้องการที่จะยุติสงครามในเร็ววัน ดังนั้น การเจรจารอบที่ 4 และ 5 ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้น จึงยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก

ในขณะที่การเจรจายังคงดำเนินต่อไปนั้น กองทัพรัสเซียเดินหน้ายึดครองกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ภายหลังจากที่ได้โจมตีเมืองจีโทมีร์ (Zhytomyr) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ และตั้งอยู่ใกล้กับกรุงเคียฟ โดยกองทัพของรัสเซียอยู่ห่างจากกรุงเคียฟไปเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นรายงานว่า นับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.นั้น มีพลเรือนเสียชีวิตในสงครามแล้วอย่างน้อย 596 ราย และคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้อีกมาก ประชาชนหลายล้านคนต่างละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหาที่หลบภัย ขณะที่ชาวยูเครนถึง 3 ล้านรายเดินทางไปยังโปแลนด์และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยูเอ็นมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็น “วิกฤตผู้ลี้ภัย” ครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

สื่อตะวันตกชี้ปูตินเท่านั้นที่จะยุติสงครามยูเครน

สตีเฟน คอลลินสัน ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยุติสงครามยูเครน การขยายวงการโจมตีที่ขยับเข้าใกล้พื้นที่ของโปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของนาโตในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งการยิงขีปนาวุธและปืนใหญ่ถล่มบริเวณที่อยู่อาศัยของพลเรือนในยูเครนนั้น บ่งชี้ว่า ปูตินไม่ได้ต้องการที่จะยุติการสู้รบแต่อย่างใด

สงครามยูเครนจะยิ่งอันตรายและใกล้ถึงจุดที่อาจจะไม่สามารถควบคุมได้ หลังจากที่รัสเซียบอกกับสหรัฐว่า รัสเซียจับตาและพุ่งเป้าไปยังประเทศตะวันตกที่จะขนส่งอาวุธให้กับกองทัพของยูเครน เพื่อสกัดการรุกคืบของรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้ร้องขอให้มีการจัดส่งอาวุธ รวมทั้งความช่วยเหลือจากนาโตและประเทศพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

ทางด้านนายเซเลนสกีจะกล่าวสุนทรพจน์ทางออนไลน์ต่อที่ประชุมสภาคองเกรสสหรัฐในวันนี้ตามเวลาไทยหรือวันอังคารตามเวลาในสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่า ผู้นำยูเครนจะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐ และกดดันนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐให้จัดส่งเครื่องบินรบมาช่วยยูเครน

ส่วนผู้นำประเทศเพื่อนบ้านยูเครนอย่างนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เช็ก และสโลวีเนีย ได้เดินทางด้วยรถไฟไปยังกรุงเคียฟเมื่อวานนี้ เพื่อแสดงจุดยืนของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนยูเครน ขณะที่สัปดาห์หน้า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมนัดพิเศษของนาโต

ความพยายามของสหรัฐ

แม้ว่าการเจรจาจะไม่คืบหน้าเท่าไรนัก แต่การโจมตีพันธมิตรรัสเซียอย่างจีนด้วยสงครามข้อมูลข่าวสารจากสื่อตะวันตกก็มีส่วนสกัดความได้เปรียบของรัสเซีย

การเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีน โดยมีนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ และนายหยาง เจียฉี ผู้อำนวยการคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศของจีนเป็นตัวแทนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาที่กรุงโรม ถือเป็นการเจรจาร่วมกันครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและสหรัฐนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน โดยวาระการเจรจาดังกล่าวถูกกำหนดไว้ว่า จะหารือในประเด็นผลกระทบด้านความมั่นคงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกจากการทำสงครามยูเครน แต่ผลลัพธ์ก่อนและหลังการเจรจานำมาซึ่งสงครามข้อมูลข่าวสารที่มีการตอบโต้กันไปมาถึงท่าทีในการกดดันและรับมือของทั้งจีนและสหรัฐ

โดยก่อนหน้าที่การเจรจาจะเปิดฉากขึ้น เจค ซัลลิแวน ได้ออกมาขู่จีนว่า หากจีนให้การสนับสนุนรัสเซีย จีนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ในขณะที่มีรายงานข่าวแพร่ออกมาจากสื่อชาติตะวันตกหลังจากที่สหรัฐออกมาขู่จีนว่า รัสเซียได้ขอความช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์ทางการทหารและความช่วยเหลือด้านการเงินจากจีน

“เราได้สื่อสารโดยตรงเป็นการส่วนตัวไปยังจีนแล้วว่า หากมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรรัสเซีย หรือแม้แต่การสนับสนุนรัสเซีย จะต้องเกิดผลลัพธ์ตามมาอย่างแน่นอน เราจะไม่ยอมให้ประเทศใดประเทศหนึ่งให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อชีวิตรัสเซีย”

นายซัลลิแวนกล่าวก่อนหน้าการเจรจากับจีนจะเปิดฉาก

การเจรจาระหว่างผู้แทนจีนและสหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ยังได้มีการหารือกันเกี่ยวกับโครงการอาวุธของเกาหลีเหนือ ภายหลังจากที่เกาหลีเหนือได้พยายามที่จะสร้างสถานการณ์และเรียกร้องความสนใจจากทั้งสหรัฐและจีน โดยสำนักข่าวยอนฮัพได้รายงานว่า เกาหลีเหนืออาจจะยิงขีปนาวุธ ICBM อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้

นอกเหนือไปจากการกดดันจีนให้ออกมาแสดงท่าทีและจุดยืนแล้ว สหรัฐยังได้กดดันอินเดียให้ร่วมวงแบนรัสเซีย หลังจากที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่จากรัสเซียได้งดออกเสียงลงคะแนนคัดค้านรัสเซียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

แต่ความพยายามดังกล่าวดูเหมือนว่า จะยังไม่ได้ผล เนื่องจากอินเดียได้ออกมาให้ข่าวว่า อินเดียกำลังเจรจากับรัสเซียเรื่องการเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

สหรัฐเองได้พยายามที่จะเกลี้ยกล่อมยุโรปด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่สหรัฐได้แจ้งกับสหภาพยุโรปว่า จีนเต็มใจที่จะให้การสนับสนุนทางการทหารแก่รัสเซีย ในขณะที่สหภาพยุโรปเองก็ไม่หูเบาในเรื่องนี้ เนื่องจากสหรัฐเองไม่ได้แจ้งข้อมูลข่าวกรองที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีน

การรับมือกับสงครามข่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาติตะวันตกมีความพยายามในการให้ข้อมูลข่าวสารเชิงรุกเกี่ยวกับสงครามยูเครนและรัสเซียมาโดยตลอด ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของพันธมิตรของรัสเซียอย่างจีนที่ออกมาเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงข่าวการเตรียมการเพื่อใช้อาวุธชีวภาพหรือแม้แต่นิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้

การที่อีกฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเชิงรุกเช่นนี้ จีนเองยังคงรักษาท่าทีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ล่าสุด จีนได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า รัสเซียขอความช่วยเหลือทางการทหารจากจีนเพื่อบุกยูเครน โดยจีนระบุว่า ข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานานี้ ถือเป็นการกระทำของ “สหรัฐ” เพื่อที่จะบิดเบือนข้อมูล จีนชี้ว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในขณะนี้คือทุกฝ่ายควรใช้ความอดกลั้น เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์บรรเทาเบาบางลง

จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า เราควรจะส่งเสริมให้มีการดำเนินการทางการทูตมากกว่าที่จะกระพือความตึงเครียด จีนพยายามที่จะเป็นกลางในสงครามครั้งนี้

อย่างไรก็ดี การที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ย้ำถึงคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่า สหรัฐมีห้องทดลองทางชีวภาพในยูเครน แม้ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะออกมาระบุว่า ทางยูเอ็นไม่รู้เรื่องโครงการอาวุธชีวภาพดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น สื่อตะวันตกตีความว่า การตอกย้ำเรื่องห้องทดลองทางชีวภาพของสหรัฐในยูเครนโดยจีน สื่อให้เห็นถึงการสนับสนุนรัสเซียในการต่อต้านสหรัฐ

นอกจากนี้ สื่อตะวันตกยังวิเคราะห์ด้วยว่า การร้องขอความช่วยเหลือของรัสเซียอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแรงของรัสเซียในสายตาของนานาประเทศก็เป็นได้ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือของจีนแก่รัสเซียอาจจะถูกมองได้ว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในสงครามยูเครน และอาจจะสะท้อนให้เห็นถึง “ฝันร้าย” ของสหรัฐสำหรับการเป็นคู่หูเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซีย หลังจากที่จีนได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศมหาอำนาจคู่แข่งรายสำคัญของสหรัฐในศตวรรษที่ 21

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นภาพจีนออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของสหรัฐที่ว่า รัสเซียขอความช่วยเหลือจากจีนในการบุกยูเครน

ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครนนั้น ปูตินได้เดินทางไปพบปะกับปธน.สี จิ้น ผิง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการเป็นมิตรภาพแบบไร้ซึ่ง “ขีดจำกัด” ของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวออกมาด้วยว่า ปูตินให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่บุกยูเครนจนกว่ามหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งจะสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ การที่สื่อจีนได้รายงานข่าวเรื่องห้องแล็บอาวุธเคมีและชีวภาพของสหรัฐในยูเครนนั้น ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวด้านข้อมูลข่าวสารที่สื่อมองว่า ทางฝ่ายสหรัฐมองว่าอาจจะเป็นการปูทางไปสู่การใช้อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพในสงครามครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ จีนพยายามดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เพื่อจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากผลพวงทางเศรษฐกิจและการทูต และรอวันที่แดนมังกรจะได้รับอานิสงส์ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากที่สถานการณ์ได้คลี่คลายลง

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานโดยสื่อตะวันตกถึงจุดยืนของจีนด้วยว่า การที่ปธน.สี จิ้น ผิง ต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 3 ในขณะที่จีนจะจัดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นช่วงปลายปีนี้นั้น การรักษาจุดยืนของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการคว่ำบาตรในช่วงเวลาที่มีความสำคัญเช่นนี้ จึงอาจจะเป็นอีกเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการสงวนท่าที เพราะการที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศกำลังชะลอตัวลง

ด้วยความที่ตัวละครที่มีบทบาทในสงครามยูเครนที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยนี้ ต่างมีจุดยืนและความต้องการที่แตกต่างกัน สงครามที่เกิดขึ้นน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top