นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี ยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 รายต่อวัน โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) จากการจัดกิจกรรมในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายงานการระบาดเป็นคลัสเตอร์พบมากที่สุดจากกิจกรรมงานศพ 56% รองลงมาเป็นงานแต่งงาน 23% งานบุญ 16% และงานบวช 5% โดยพบคลัสเตอร์จำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี
ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็นเหตุการณ์/ความเสี่ยง ที่พบเห็นในบริเวณที่พักอาศัย (สำรวจวันที่ 1-15 มี.ค. 65, N=17,978) พบว่า ประชาชนพบการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนอย่างแออัด ไม่เว้นระยะห่าง มีคนไม่สวมหน้ากาก หรือสวมไม่ถูกต้อง 27% นอกจากนี้ ประชาชนยังพบการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน 24%
จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า การจัดกิจกรรมในชุมชนยังมีการละเลยอยู่บ้าง โดยจากการวิเคราะห์ความเสี่ยง โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น จากการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากในชุมชนและมาจากหลายพื้นที่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน และประชาชนละเลยมาตรการ DMHTA เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการรุนแรง จึงทำให้ประชาชนเกิดการประมาทคนใกล้ตัว
“เน้นย้ำประชาชนว่า ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว แต่เราสามารถใช้ชีวิตภายใต้วิถีใหม่ได้ โดยทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เน้นย้ำรณรงค์การฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ให้ได้มากที่สุด และถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่ยังต้องล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่างให้เหมาะสมกับกิจกรรม ส่วนการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนสามารถจัดได้แต่ต้องนำ COVID Free Setting มาปรับใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้านนางอัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางในการจัดงานในชุมชนว่า ต้องมี “3 ป.” เพื่อให้การจัดงานมีความปลอดภัยจากโควิด-19 คือ
1. ป.ประเมิน (พิจารณาความเสี่ยง) หากกิจกรรมมีลักษณะความเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ถือว่างานมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ มีความหนาแน่น น้อยกว่า 4 ตร.ม./คน หรือเว้นระยะห่างน้อยกว่า 1 เมตร, มีการตะโกนร้อง ใกล้ชิด มีการสัมผัสกันมากตลอดเวลา, มีการถอดหน้ากากเป็นระยะเวลานานหรือไม่สวม และอาคารปิดทึบ มีการระบายอากาศไม่ดี
2. ป.ปรับ ตามมาตรการความปลอดภัย COVID Free Setting หลังจากประเมินแล้วพบว่างานที่จะจัดมีความเสี่ยง ต้องมีการปรับ ได้แก่
– COVID Free Environment (อนามัยสิ่งแวดล้อม) ต้องกำหนดเส้นทางเข้าออกให้เหมาะสม และจุดคัดกรองที่เพียงพอ, จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่และน้ำ หรือให้มีเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ, ทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำก่อนและหลังจัดงานทุกครั้ง และระหว่างจัดงานให้ทำความสะอาดทุก 1-2 ชั่วโมง, จัดในพื้นที่โล่ง มีการระบายอากาศ, หากมีการแสดง ต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่างของเวทีและผู้ชมอย่างน้อย 2 เมตร, มีระบบจัดการไม่ให้แออัด และลดการสัมผัส โดยอาจใช้วิธีการจำกัดจำนวนคนร่วมงาน, จัดอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล หรือจัดเป็นกล่อง และเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความไร้ระเบียบ หรือการสัมผัสใกล้ชิด
– COVID Free Personnel (ผู้จัดงาน ผู้ให้บริการ) และ COVID Free Customer (ผู้ร่วมงาน) ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์, คัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai หรืออื่นๆ, จัดอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว, ถือปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค DMH, เฝ้าระวังอาการตนเอง 10 วันหลังจบงาน, มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตาม และให้พิจารณาการคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) ตามความเหมาะสม
3. ป.ปฎิบัติอย่างเคร่งครัด โดยผู้จัดงานต้องประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ผ่านระบบ Thai Stop COVID 2 Plus ก่อนจัดงาน ต่อมาให้แจ้งการจัดงานต่อผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อทราบ และแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) โดยในวันจัดงานให้ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด และมอบหมายเจ้าหน้าที่ ศปก.ต. ลงกำกับการจัดงานให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
“หากผู้จัดงานไม่ประเมินในแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus ตามหลักกฎหมายไม่มีระบุความผิดชัดเจน อย่างไรก็ดี ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน การที่เราจะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้นั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้การจัดงานสามารถดำเนินต่อไป” นางอัมพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 65)
Tags: COVID Free Setting, COVID-19, กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, คลัสเตอร์, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, โควิด-19