คลังเผย APEC FMP Workplan หนุนฟื้นศก.หลังโควิด มุ่งสู่ Digital Economy-FinTech

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมปลัดกระทรวงการคลัง และรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พร้อมด้วยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1. แผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค 2022 (APEC Finance Ministers’ Process (APEC FMP) Work Plan 2022) ที่ประชุมได้เห็นชอบ APEC FMP Workplan 2022 โดยแผนงานดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูภูมิภาคเอเปคในบริบทโลก หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลและการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ที่เน้นการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 มิติ ได้แก่ การค้าและการลงทุน นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม

โดยในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เสนอประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิดหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลัก ดังนี้

1.1 การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเขตเศรษฐกิจ

1.2 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้เน้นด้านการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐของเอเปค และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ (2) การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Payment Connectivity) และ (3) การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน

2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ภูมิภาค และแนวโน้ม (Global and Regional Economic Outlook) ผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC PSU) ได้นำเสนอผลวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจัยด้านข้อจำกัดในการเดินทาง และปัญหาผลกระทบด้านอุปทาน ทั้งนี้ APEC PSU ประมาณการเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 และปี 2566 จะขยายตัวที่ 4.4% และ 3.8% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจเอเปคจะขยายตัวที่ 4.2% และ 3.8% ต่อปี ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อ การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระดับหนี้ที่สูง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อและความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานได้

ทั้งนี้ ผู้แทนจาก IMF ได้คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 4.4% ต่อปี โดยภูมิภาคเอเปคในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเขตเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สะท้อนจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมใหม่เฉลี่ย 7 วันที่มีจำนวนลดลง ปริมาณผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวของประชากรในชุมชน (COVID-19 Community Mobility Reports) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น สะท้อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายๆ เขตเศรษฐกิจได้ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทย ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะผู้แทนไทย ได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 4.0% ต่อปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความไม่แน่นอนของด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น

นโยบายการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวจากต่างชาติ จะสามารถกลับมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ ผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งสะท้อนถึงทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเปค

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนั้น กระทรวงการคลังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาชิกเอเปค องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชนในการดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไป โดยการประชุม FCBDM จะดำเนินต่อไปในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ซึ่งเขตเศรษฐกิจเอเปคจะหารือกันในประเด็นการเงินเพื่อความยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top