ทริสฯ เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร ORI เป็น BBB+ เปลี่ยนแนวโน้มเป็น Stable

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) เป็นระดับ “BBB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก”

พร้อมทั้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี ของบริษัทที่ระดับ “BBB+” เช่นเดียวกันอีกด้วย

ในการนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 41.5% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมบางส่วนและใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการ

อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่ดีขึ้น ตลอดจนผลกำไรที่แข็งแกร่ง และระดับภาระหนี้ที่ลดลง ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) จะยืดเยื้อ แต่บริษัทก็ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถรักษากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้อยู่ที่ระดับประมาณ 4-5 พันล้านบาทรวมทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานให้อยู่ที่ระดับประมาณ 2.6-3.2 พันล้านบาทได้

นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท (รวมภาระหนี้ตามสัดส่วนของบริษัทในโครงการร่วมทุน) ก็ลดลงมาอยู่ที่ 56% ในปี 2564 จากระดับประมาณ 67% ในปี 2562 อีกด้วย

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม ตลอดจนมูลค่ายอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้จำนวนมาก และส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมค้าที่คาดว่าจะมีจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงจากผลของการขยายธุรกิจแบบเชิงรุกทั้งในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความกดดันให้แก่อุปสงค์คอนโดมิเนียมต่อไปอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร สถานะทางการตลาดของบริษัททั้งในตลาดคอนโดมิเนียมและโครงการบ้านจัดสรรปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทสามารถสร้างยอดขายและยอดโอนที่ระดับเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะซบเซาลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 แต่ยอดขายของบริษัท (รวมยอดขายจากโครงการร่วมค้า) ในปี 2564 ยังเพิ่มขึ้นเป็น 1.65 หมื่นล้านบาทจากเพียง 1.09 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จากอานิสงส์ของยอดขายจากโครงการบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านบาทในปี 2564 จากระดับ 2.5 พันล้านบาทในปี 2563 และจากระดับที่เกือบไม่มีเลยในปี 2560

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสินค้าพร้อมขายที่มีอยู่และแผนการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จำนวนมากของบริษัททำให้ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายในปี 2565 ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20%-25% จากปีก่อนหน้าและจะเพิ่มขึ้นอีก 5%-10% ในปี 2566 และปี 2567

บริษัทมีสินค้าอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบคลุมทุกระดับราคา โดยโครงการคอนโดมิเนียมมีช่วงราคาอยู่ที่ 60,000-200,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ในขณะที่โครงการบ้านจัดสรรมีราคาอยู่ที่ 2.5-50 ล้านบาทต่อหลัง ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทนั้นประกอบด้วยแบรนด์ที่หลากหลาย อาทิ “Brixton” “The Origin” และ “Origin Plug and Play” ซึ่งเน้นลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มราคาระดับปานกลาง ในขณะที่แบรนด์ “Knightsbridge” “So Origin” และ “Park Origin” เน้นลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มราคาระดับสูงถึงหรูหรา ซึ่งแบรนด์คอนโดมิเนียมเหล่านี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อ

ส่วนแบรนด์โครงการบ้านจัดสรรของบริษัทนั้นประกอบด้วย “Brighton” และ “Britania” ซึ่งเน้นลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มราคาระดับปานกลาง ในขณะที่แบรนด์ “Grand Britania” และ “Belgravia” เน้นลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มราคาระดับสูงถึงหรูหรา ซึ่งโครงการบ้านจัดสรรก็ได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนา ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 19 โครงการ โครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทเองจำนวน 34 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียมที่พัฒนาภายใต้การร่วมทุนอีกจำนวน 16 โครงการ ทั้งนี้ สินค้าเหลือขายทั้งหมดรวมทั้งที่สร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4.41 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยบ้านจัดสรรในสัดส่วน 31% คอนโดมิเนียมของบริษัทเอง 40% และคอนโดมิเนียมร่วมทุนอีก 29%

บริษัทยังวางแผนเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่ารวม 4.2 หมื่นล้านบาทอีกในปี 2565 โดยประกอบไปด้วยโครงการบ้านจัดสรรใหม่มูลค่า 1.34 หมื่นล้านบาทและโครงการคอนโดมิเนียม (รวมโครงการร่วมทุน) มูลค่า 2.86 หมื่นล้านบาท

– มีกำไรที่แข็งแกร่งแม้ว่าโรคโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาด ถึงแม้ว่าโรคโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดไม่หยุด ทว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 ยังสูงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง รายได้ของบริษัทในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.53 หมื่นล้านบาทจาก 1.09 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และ 1.37 หมื่นล้านบาทในปี 2562 โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรที่เติบโตอย่างมากตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ EBITDA ของบริษัทก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.1 พันล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 4.1-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 ในขณะที่อัตรากำไรจาก EBITDA ของบริษัทยังคงอยู่ในช่วง 34%-37% ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 20%-25%

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.3-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีโดยบริษัทจะมีรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรในสัดส่วน 40%-50% ของรายได้รวม ในขณะที่ EBITDA นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.3-5.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งประมาณการรายได้ดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากมูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้เป็นรายได้จำนวนมากของบริษัทและการคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอนอยู่ที่ประมาณ 3.46 หมื่นล้านบาทซึ่งแบ่งออกเป็นยอดขายจากโครงการของบริษัทเองมูลค่า 7.6 พันล้านบาทและยอดขายจากโครงการร่วมทุนมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยยอดขายรอโอนของบริษัทจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ที่ประมาณ 5.2 พันล้านบาทในปี 2565 ประมาณ 0.2 พันล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 2.2 พันล้านบาทในปี 2567

ในขณะที่ยอดขายรอโอนของโครงการร่วมค้าจะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าที่มูลค่าประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 และส่วนที่เหลือในปี 2567 ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่าจะมีส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมค้าประมาณ 1.3-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567

– เป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 5%-10% จากปีก่อนหน้าโดยมีปัจจัยสนับสนุนคือแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด 19 มีสัญญาณบรรเทาลง นอกจากนี้ การขยายระยะเวลาผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยยังคงเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-value Ratio — LTV) ให้อยู่ที่ระดับ 100% จาก 70%-90% สำหรับที่อยู่อาศัยทุกประเภทและการลดค่าโอนและค่าจดจำนองสำหรับบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 2565 นั้นก็น่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ที่อยู่อาศัยให้เติบโตขึ้นได้ในปีนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อีกหลายประการในระยะสั้นถึงปานกลางนี้ โดยการแข่งขันในหมู่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงรุนแรงต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านในกลุ่มระดับราคาที่ไม่แพง ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาดและต้องเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์สินค้าของบริษัทให้เกิดในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อที่จะคงอัตราการเติบโตของรายได้เอาไว้

นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำ ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นก็ยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับผู้ประกอบการอีกเช่นกัน

– สัดส่วนกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ ยังมีน้อย บริษัทขยายกิจการไปยังธุรกิจโรงแรมและบริการในปี 2560 และขยายสู่ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าในปีนี้ บริษัทได้ก่อสร้างโรงแรม 2 แห่งแล้วเสร็จซึ่งประกอบด้วย “Holiday Inn Siracha” และ “Staybridge Thonglor” และได้เริ่มเปิดดำเนินงานแล้ว ส่วนโรงแรมอีก 3 แห่งและอาคารสำนักงานอีก 1 แห่ง คือ “Intercontinental Sukhumvit” “Staybridge Phromphong” “Holiday Inn Express Phayathai” และอาคารสำนักงานที่สนามเป้านั้นจะเปิดดำเนินงานได้ในช่วงปี 2565-2567

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 บริษัทยังได้ซื้อกิจการโรงแรมอีก 3 แห่งจาก บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) รวมมูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านบาทอีกด้วย ซึ่งรายได้จากธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการลงทุนในธุรกิจอีกหลายประเภท อาทิธุรกิจโกดังสินค้าให้เช่า ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจพลังงาน โดยบริษัทได้มีความร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ เช่น บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ในธุรกิจโกดังสินค้าให้เช่า Kin และ Senizens ในธุรกิจดูแลสุขภาพ และ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ในธุรกิจพลังงาน โดยการขยายไปในธุรกิจอื่น ๆ ดังกล่าวนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น ความสำเร็จในการลงทุนของบริษัทในธุรกิจใหม่ ๆ ดังกล่าวจึงยังคงต้องติดตามต่อไป

ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงเป็นธุรกิจหลักในการทำกำไรให้แก่บริษัทโดยมีสัดส่วนเกินกว่า 80% ของกำไรรวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายไปในธุรกิจอื่น ๆ เหล่านี้ก็จะช่วยขยายสัดส่วนของธุรกิจให้แก่บริษัทและช่วยให้บริษัทมีผลกำไรที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

– อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะต่ำกว่า 60% ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะต่ำกว่าระดับ 60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 55.6% ณ สิ้นปี 2564 ลดลงจากระดับ 63%-67% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากแผนการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวนมากและการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ จะส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 58%-59%

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกินกว่า 2.5 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 0.97 เท่า ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมเอาไว้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดตัวโครงการใหม่ที่มูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุน) ในปี 2565 และประมาณ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 บริษัทตั้งงบประมาณในการซื้อที่ดินไว้ที่ประมาณ 5-7 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างจะอยู่ที่ระดับ 35%-40% ของมูลค่าโครงการ บริษัทมีแผนการลงทุนที่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เช่น โรงแรมและอาคารสำนักงานให้เช่า ส่วนงบประมาณการลงทุนสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโกดังสินค้าให้เช่า ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจด้านสุขภาพนั้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาทโดยรวมในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทวางแผนการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ด้วยวิธีการร่วมทุนซึ่งจะช่วยลดความต้องการเงินลงทุนไปได้ส่วนหนึ่ง

– สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าก็คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.0-3.2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 8.5 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 2.3 พันล้านบาท เงินกู้โครงการจำนวน 2.7 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 3.5 พันล้านบาท โดยบริษัทใช้เงินกู้ระยะสั้นส่วนใหญ่เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเป็นเงินกู้ชั่วคราวเพื่อใช้ในการซื้อที่ดินซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนมาเป็นเงินกู้โครงการต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจ่ายชำระหนี้เงินกู้โครงการด้วยกระแสเงินสดจากการโอนโครงการที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • บริษัทจะเปิดตัวโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ที่มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
  • รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 และส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมค้าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3-1.8 พันล้านบาทต่อปีเนื่องจากโครงการร่วมทุนคาดว่าจะโอนคอนโดมิเนียมที่มูลค่าประมาณ 1.0-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • งบประมาณในการซื้อที่ดินซึ่งรวมโครงการร่วมทุนจะอยู่ที่ประมาณ 5-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และธุรกิจอื่น ๆ จะมีมูลค่ารวม 3.0-3.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถส่งมอบสินค้าจำนวนมากได้ตามแผนการที่วางไว้ และแม้จะมีแผนการขยายธุรกิจแบบเชิงรุก ทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้และรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับ 60% ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินยังคงอยู่ที่ระดับ 10%-15% ต่อไปได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้าถึงแม้ว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวและภาวะเศรษฐกิจจะยังคงไม่ฟื้นตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากฐานรายได้และกระแสเงินสดของบริษัทเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญโดยที่บริษัทยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-55% ได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่เกินกว่า 60% และ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงต่ำกว่า 10% เป็นเวลาที่ต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top