ซุปเปอร์บอร์ดยื่นหนังสือ กสทช.ใช้อำนาจยับยั้งการควบรวม TRUE-DTAC

นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.เลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการ กรรมการ กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 แล้วนำประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กลับมาใช้ หรือนำออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ประกอบการพิจารณาไม่ให้มีการควบรวมกิจการของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือ กลุ่มบริษัททรู กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ กลุ่มบริษัทดีแทค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้น การนำคลื่นความถี่มาใช้ในกิจการของภาคเอกชนจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ส่วนนี้เป็นสำคัญ หากการกระทำใดที่ขัดกับประโยชน์ของภาคประชาชน สาธารณชน และประเทศชาติ ก็เป็นสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมาย จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ซึ่ง กสทช. ก็ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน รวมถึงศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

นายณภัทร กล่าวว่า ประเด็นของ TRUE กับ DTAC ที่กำลังจะควบรวมกิจการกันนั้น ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจหลักที่เป็นโครงสร้างการสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้าน อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรง คือ การมีอำนาจเหนือตลาด ใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่เอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการต่ำลง กดดันผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งการกระทำที่ผ่านมาของ กสทช. ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น

การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ กสทช. พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ที่มีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ หากไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถูกต้องตามหลักการและครอบคลุม รวมถึงการเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ สถาบันการศึกษา สภาคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันศึกษาถึงข้อมูล วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการแข่งขันและผลที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค พร้อมทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศที่แสดงถึงหลักการที่ขัดแย้งกับการแข่งขันเสรี

“ถ้าว่ากันด้วยหลักการและเหตุผล การทำงานของ กสทช.ชุดนี้ต้องรอ คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้ว รอแค่กระบวนการโปรดเกล้าแต่งตั้งก็สามารถเข้าปฎิบัติงานได้ทันที เพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่รออยู่ เพียงแต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อย่าทำผิดกฎหมาย และท่านต้องสื่อสารให้สาธารณะรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ และมีประเด็นย่อยในกระบวนการทำงานของ กสทช. ที่มีหลักการกฎหมายที่เขียนไว้ว่าท่านต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

แต่กรณีนี้กระบวนการรับฟังสาธารณะเชิญแต่โอเปอเรอเตอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไปด้วย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นมาตรา 28 เขียนไว้เป็นบทบัญญัติสำคัญเลยว่าต้องทำ และเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไม่ทำ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับเราโดยตรง ทำให้พวกเราเกิดความไม่มั่นใจ กังวลใจ เรื่องเช่นนี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ได้ตระหนักถึงผลส่วนรวมของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนหรือไม่”

นายณภัทร กล่าวว่า อยากให้ กสทช.ได้ทบทวนถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเต็มความสามารถ ในการพิจารณาการควบรวมของ TRUE และ DTAC เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งกำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้ง พ.ร.บ.กสทช และรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 60 ในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงในมาตรา 157 ในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ตามพันธกิจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส

ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่น ซึ่งตัวบทหลักคือ 2553 และมีฉบับที่แก้ไข แต่หลักการที่ไม่มีแก้ อย่างเช่น กรณีที่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย หลักการที่กฎหมายเขียนไว้ในมาตราที่ 27 ที่เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องดำเนินการเรื่องพวกนี้ เพื่อป้องกันการควบรวม การครอบงำ การทำให้เรื่องของตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ที่เขียนไว้ในกฎหมาย และตัว พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็มีมาตรการที่เขียนไว้

นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายลูกที่เรียกว่าประกาศตาม พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม ปี 2544 ก็ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งตัว Key สำคัญจริงๆ คือ ประกาศที่ออกเมื่อปี 2549 มีกรอบหลักการชัดเจนว่า จะเป็นบทเฉพาะกาลในการคุ้มครองเรื่องนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top