กนง.เตรียมแจงคลังเงินเฟ้อจ่อพุ่ง 5% มองขึ้นดอกเบี้ยสกัดยังไม่ใช่ทางออก

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.เตรียมทำหนังสือเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลังเพื่อชี้แจงกรณีอัตราเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมาย โดย กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 และ 66 จะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปี 65 จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปี 66 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“การปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มองว่ามีผลกระทบที่กว้างที่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการขยับ การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ หากขึ้นแรงก็ลดเงินเฟ้อได้ แต่จะฉุดอุปสงค์ให้ถดถอย และเมื่อมองไปข้างหน้าเงินเฟ้อก็ไม่ได้ขึ้นร้อนแรงและต่อเนื่อง จึงไม่อยากใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบค่อนข้างมากในขณะนี้ กับปัจจัยที่มีลักษณะชั่วคราว เพราะดอกเบี้ยมีผลพอสมควร”

นายปิติ กล่าวว่า กนง.ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกว่าภาวะ Stagflation เพราะทฤษฎีดังกล่าวมีลักษณะที่เศรษฐกิจจะต้องตกต่ำไม่ขยายตัว หรือขยายตัวช้าเป็นเวลายาวนาน ขณะที่เงินเฟ้อต้องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในลักษณะกำลังทะยานขึ้น โดยในปี 66 จะเติบโตมากกว่าศักยภาพที่ระดับ 3% คาดว่าจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 65 หรือต้นปี 66

ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการติดตามตลาดตราสาร พันธบัตร ยังไม่เห็นสัญญานเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มีลักษณะหวือหวา แม้ว่าตลาดจะคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 5-6 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% แต่ผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ประมาณ 2% ส่วนของไทยอยู่ที่ 0.7-0.8% มองไปข้างหน้าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะไม่กระทบต่อค่าเงินบาท และความเสี่ยงเงินทุนไหลออกยังอยู่ในขอบเขตที่ดูแลได้ เพราะนักลงทุนจะให้ความสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งเศรษฐกิจไทยกำลังจะทะยานขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีการคาดการณ์ว่าใกล้จะชะลอตัวแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top