ศรีลังกาเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ราคาพันธบัตรของรัฐบาลศรีลังกาทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังเกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นวงกว้าง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี และยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

ราคาพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ค.ปีนี้ อยู่ที่ระดับ 59 เซนต์สหรัฐ ณ วันจันทร์ที่ 4 เม.ย. ซึ่งลดลง 7 เซนต์ และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563

ราคาล่าสุดของพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกาซึ่งปรับตัวลงรุนแรงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมากขึ้นว่าศรีลังกาจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนในเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนข้างหน้านี้

ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จนส่งผลให้ไฟดับทั้งประเทศเป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งวันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 เม.ย.) รวมทั้งเกิดภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง, อาหาร และยา เป็นชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้น และออกมาประท้วงตามท้องถนน

การประท้วงที่รุนแรงส่งผลให้รัฐบาลศรีลังกาตัดสินใจปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียรวมถึงเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และประกาศเคอร์ฟิว 36 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 18.00 น.ในวันเสาร์ที่ 2 เม.ย. จนถึง เวลา 06.00 น.ในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่น โดยประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ผู้นำศรีลังกา ประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกมาในที่สาธารณะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางการ

ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนเงินสดของศรีลังกาส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) , ควบคุมการนำเข้า และวางแผนที่จะเจรจาต่อรองเงื่อนไขกับผู้ถือพันธบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลต้องผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกายังพยายามที่จะหันไปพึ่งพาเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ปธน.ราชปักษเปิดเผยว่า ศรีลังกากำลังขอความช่วยเหลือจาก IMF เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลการค้าไว้ประมาณ 14% ในปีนี้ รวมทั้งลดยอดขาดดุลการค้าลงสู่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จาก 8.1 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกับประเมินว่า ศรีลังกาต้องใช้เงินช่วยเหลือ 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อพยุงสถานะการเงินของประเทศ

หาก IMF ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ต่อ ก็จะกลายเป็นมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 17 ที่ IMF อนุมัติให้กับศรีลังกา ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเงื่อนไขมากมาย เช่น การปฏิบัติตามเป้าหมายทางการคลังอย่างเข้มงวด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top