ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมมี.ค.อยู่ที่ 89.2 จาก 86.7 ในก.พ.สูงสุดรอบ 25 เดือน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.65 อยู่ที่ระดับ 89.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.7 ในเดือน ก.พ.65 โดยค่าดัชนีฯ สูงสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่ มี.ค.63 เนื่องจากดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

“ยอดขายรถยนต์จากงานมอเตอร์โชว์ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.6% สะท้อนความมั่นใจของผู้บริโภคที่ดีขึ้น” นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว และความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการปรับรูปแบบมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 ได้ช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น อีกทั้งในเดือน มี.ค.ผู้ประกอบการภาคขนส่งเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังกดดันให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบ เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินแร่สำหรับผลิตเหล็กอลูมิเนียม เป็นต้น

โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน, สภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19, เศรษฐกิจในประเทศ, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) , สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.1 ในเดือน ก.พ. เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลงจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้นส่งผลอุปสงค์ในประเทศมีทิศทางดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่

1.ยกเลิกมาตรการ Test & GO เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการรองรับการปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

2.เร่งแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและวัตถุดิบราคาแพง อาทิ ปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต รวมทั้งปลดล๊อคเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน

3.ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า

4.เร่งเจรจากับจีน-เวียดนาม ขอขยายเวลาเปิดด่านเป็น 24 ชม. เพิ่มช่องทาง Green Lane ในการตรวจสินค้าผลไม้ รวมทั้งการเตรียมแผนสำรองในการส่งออกผลไม้ทางเรือ/เครื่องบิน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนผ่านด่านทางบก

“ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้รุนแรง ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสสามารถรักษาหายภายใน 3-5 วัน หากยกเลิก Test & GO เพื่อให้มีช่องทางหางรายได้เพิ่มมาชดเชยกับรายจ่ายจะช่วยให้มาตรการภาครัฐที่ออกมาเกิดประสิทธิผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น” นายสุพันธุ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top