กทม. ปรับระบบคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 นำกลุ่ม 608 เข้ารักษาในรพ.ทันที

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดระบบคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็กของสถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร

รวมทั้งการประสานส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

สำนักอนามัย มีระบบในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นกลุ่ม 608 โดยใช้แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล หากพบว่าผู้ติดเชื้อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปี 2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ 3.โรคไตเรื้อรัง 4.โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด 5.โรคหลอดเลือดสมอง 6.เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 7.ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) 8.ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ 9.หญิงตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1330 กด 18 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข

หากพบว่าผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ศูนย์บริการสาธารณสุข จะรับดูแลและส่งคำร้องขอเตียงไปยังศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร เพื่อรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม / โรงพยาบาล / Hospitel โดยระหว่างที่รอการส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบ Home Isolation จากศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับยารักษาโดยเร็วที่สุดจนกว่าจะได้รับการจัดสรรเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มสีเหลืองที่สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus และสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง

นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ UCEP Plus และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มาขอรับบริการ ณ ARI clinic และทางออนไลน์ และดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีระบบการคัดแยกผู้ป่วย และระบบดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการระดับต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ UCEP Plus และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยจะเน้นระบบการคัดกรองและระบบการส่งต่อกลุ่มเสี่ยง 608 และกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพื่อประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อปรับเข้าสู่การคัดแยกผู้ป่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะมีศูนย์เอราวัณเป็นหน่วยประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรง

โดยสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในสังกัดสำนักการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย.65) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,498 เตียง (รพ.หลัก 631 เตียง รพ.สนาม 1,554 เตียง และ Hospitel 1,313 เตียง) มีอัตราครองเตียงรวม 80.07% พร้อมสนับสนุนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข รักษาฟรี “UCEP โควิด พลัส” ได้ทุกโรงพยาบาล รวมถึงรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ซึ่งจำแนกเกณฑ์อาการโควิดแบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง สีแดง ให้ชัดเจน ตามหลักเกณฑ์การจำแนกอาการโควิด 19 ดังนี้

1. UCEP โควิด พลัส (UCEP COVID-19 Plus) ย่อมาจาก Universal Coverage for Emergency Patients Plus เป็นเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดง และสีเหลือง รวมถึงสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง

2. แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการโควิด ดังนี้

  • ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย คือ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น กลุ่มนี้เข้ารับการรักษาได้ฟรี ในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) Hospitel หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน
  • ผู้ป่วยสีเหลือง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP พลัส ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
  • ผู้ป่วยสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค หายใจเจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชม. ค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94% กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP พลัส ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถติดต่อศูนย์เอราวัณ 1669, สปสช. 1330 กด 14, กรม สบส. 1426, UCEP พลัส 0-2872-1669

3. ปรับลดวันรักษานอนโรงพยาบาล จาก 10 วัน เหลือ 7 วัน สำหรับจำนวนวันรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาล ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 10 วัน จะมีการหารือปรับลดเป็นลักษณะ 7 + 3 คือ รักษาในโรงพยาบาล 7 วัน และกลับไปแยกกักตัวที่บ้านต่ออีก 3 วัน แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาบนหลักของความปลอดภัยโดยแพทย์ ส่วนยารักษาโควิด-19 “โมลนูพิราเวียร์” ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรมา จะใช้ทั้งในกลุ่ม 608 และคนทั่วไป

ทั้งนี้ UCEP Plus ผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่าย จะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียว จะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน

ส่วนการใช้สิทธิ UCEP Plus ผู้ติดเชื้อสิทธิบัตรทอง กลุ่มอาการสีเหลือง หรือสีแดง ยังเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ หรืออาหารพิเศษนอกเหนือสิทธิประโยชน์ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ไปรับบริการสถานพยาบาลปฐมภูมิในระบบบัตรทองได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง สามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาจนหายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน

สำหรับ UCEP Plus ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก 2.มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% 3.มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ หญิงตั้งครรภ์ สามารถโทรแจ้งศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งจะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และกรอกรายละเอียดอาการผ่านโปรแกรม PA ของศูนย์เอราวัณ หากเข้าเกณฑ์ UCEP Plus จะสามารถใช้สิทธิได้ทันที

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินมาตรการเชิงรุกและเร่งสำรวจผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 กำหนดให้บริการระหว่างวันที่ 24 มี.ค.- 29 เม.ย. 65 เพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เข็มกระตุ้นให้แก่ผู้สูงอายุ ณ จุดฉีดต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน ให้บริการวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca จองผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” และเปิด Walk in ทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 2,820,474 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. 65) โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร และชมรมผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงจะไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้ 100% แต่หากติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถลดอาการหนัก หรือลดการเสียชีวิต จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเอง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ลงชุมชนในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับกลุ่มผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top