ศบค.เห็นชอบหลักการปรับเงื่อนไข-เกณฑ์รับผู้เดินทางเข้าประเทศ รอประเมินหลังสงกรานต์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการปรับลดเงื่อนไข-เกณฑ์รับผู้เดินทางเข้าประเทศใน พ.ค. เช่น การปรับหลักฐานที่ต้องใช้ในระบบ Thailnd Pass และปรับวงเงินประกันภัย หรือการปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อ เมื่อเดินทางมาถึง และกรณีการ Quanrantine ลดระยะเวลากักตัวของผู้ควบคุมพาหนะ และลูกเรือ และกรณีผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย และผู้เสี่ยงสูง ที่อาจมีการยกเลิกการกักตัว ซึ่ง ผอ.ศบค. ขอให้ดูผลในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ก่อน และจากตัวเลขผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพิจารณาในการปรับหลักเกณฑ์ในเดือนพ.ค.ต่อไป

“ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่อนุมัติ โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้รอดูผลช่วงสงกรานต์ก่อน”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานที่ประชุมว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกมีการติดเชื้อสูงและค่อยๆ ลดลงในบางพื้นที่ ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอไมครอนลดน้อยลง ไม่ได้มีมากอย่างที่คิด โดยหลายประเทศมีการเปิดด่านและเปิดการท่องเที่ยว และสรุปตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงการต่อสู้กับการติดเชื้อโควิด-19 แบ่งตามระยะ ซึ่งไทยอยู่ในช่วงระยะที่หนึ่งของการติดเชื้อ

โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. กล่าวเน้นย้ำว่าต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลานี้ เพื่อจะได้ทำให้ตัวเลขของผู้สูญเสียลดลง แม้แต่หนึ่งชีวิตก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชนให้พาระยะที่หนึ่งไปสู่ระยะที่สอง ซึ่งระยะหลังเทศกาลสงกรานต์ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูงขึ้นมาก ระยะที่สามซึ่งถือเป็นระยะที่ลดลงก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว แต่ถ้าตัวเลขสูงขึ้นมากอัตราการลดลงก็จะช้าลง

สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ศบค. ยังให้คงมาตรการจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และสำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูงได้ไม่เกิน 23.00 น. รวมถึงคงมาตรการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ต้องเป็นร้านที่ผ่านมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับมาตรการสถานบริการและสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์คาราโอเกะ ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ เมื่อมีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง การเล่นสงกรานต์ “ริน รด พรม” เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 ว่า จะต้องมีการเตรียมการใน 2 ด้าน คือ

  1. การเตรียมคนให้ปลอดภัย โดยรณรงค์ให้มีการฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 และแนะนำประชาชนประเมินตัวเองอย่างต่อเนื่อง
  2. เตรียมพื้นที่การจัดกิจกรรมให้ปลอดภัย โดยภาครัฐได้มีการจัดทำระบบ Thai Stop Covid 2plus ให้ผู้จัดงานประเมินว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการ Covid free setting หรือไม่ ซึ่งในกิจกรรมขนาดเล็กในหมู่บ้านหรือชุมชน ไม่ต้องขออนุญาตแต่ให้แจ้งหน่วยงานที่กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ ริน รด พรม และตามประเพณีไทย

ส่วนการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่ต้องมีการขออนุญาต เพราะมีคนจากหลากหลายพื้นที่และมีความเสี่ยง ซึ่งคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม.จะเป็นผู้อนุญาต และกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับในพื้นที่

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การจัดกิจกรรมในบ้านต้องเน้นดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเอง ซึ่งกิจกรรมสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว และร่วมรับประทาน สามารถทำได้ แต่ควรจัดในพื้นที่โล่ง ลดระยะเวลาจัดงาน และเน้นให้มีการเว้นระยะห่าง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึง การสาดน้ำหรือเล่นน้ำว่า โรคโควิด-19 ไม่ได้ติดทางน้ำ ถ้าใช้น้ำสะอาดที่ใส่คลอรีน ซึ่งฆ่าเชื้ออยู่แล้ว ถ้าหากมีการจัดการเข้มงวด และมีการกำกับดูแลจะมีความปลอดภัยในการเล่นน้ำ แต่อาจมีความย่อหย่อนจึงต้องมีการกำหนดเพิ่มเติม

“อาจจะเลือกวิธี ถ้าจะสาดน้ำหลีกเลี่ยงบริเวณใบหน้า หรือถ้าใช้ปืนฉีดน้ำฉีดได้หรือไม่ ถ้าไม่ฉีดบริเวณใบหน้า ฉีดตามตัว แล้วน้ำสะอาดก็เป็นไปได้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมมือกัน ระหว่างผู้ร่วมงาน คนมาร่วมงานและผู้ควบคุมกำกับ ซึ่งเป็นสงกรานต์วิถีใหม่”

นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าในภาพรวมกทม. มีการขออนุญาตจัดงานเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว 15 รายในหลายพื้นที่ ทั้งในส่วนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคประชาชนเอง ซึ่งกทม.มีประกาศมาตรการสงกรานต์ในวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งหากมีจัดงานขนาดใหญ่เกิน 1,000 คน ก็ให้มีการขออนุญาตกับส่วนกลาง และขนาดเล็กต่ำกว่า 1,000 คนให้มีการยื่นขอจัดงานที่เขต ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่อนุญาตให้จัดงาน โดยยังไม่มีการขออนุญาตปิดถนน เพื่อขอจัดงานสงกรานต์

ทั้งนี้ กทม.ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรมในครอบครัวทางกทม. สามารถเล่นน้ำในครอบครัวตามประเพณีได้ แต่ขอความร่วมมือในการปฏิบัติ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่เกณฑ์ที่รับได้ และในขณะนี้ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยยังเพียงพอ แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วย

นพ.สุนทร กล่าวว่า ทางกทม. ใช้แนวทางปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น การห้ามเล่นปาร์ตี้โฟม ห้ามเล่นในพื้นที่สาธารณะ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแนวทางที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ส่วนหลังเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเดินทางกลับมา กทม. ควรขออนุญาตที่ทำงานเพื่อ WFH สังเกตอาการตัวเอง

ทั้งนี้ กทม.ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรมในครอบครัวทางกทม. สามารถเล่นน้ำในครอบครัวตามประเพณีได้ แต่ขอความร่วมมือในการปฏิบัติ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่เกณฑ์ที่รับได้ และในขณะนี้ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยยังเพียงพอ แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วย

นพ.สุนทร กล่าวว่า ทางกทม. ใช้แนวทางปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น การห้ามเล่นปาร์ตี้โฟม ห้ามเล่นในพื้นที่สาธารณะ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแนวทางที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ส่วนหลังเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเดินทางกลับมา กทม. ควรขออนุญาตที่ทำงานเพื่อ WFH สังเกตอาการตัวเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top