กทม. เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 หลังพบสูงเกินมาตรฐาน

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ว่า กรุงเทพมหานครได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก จัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมทั้งทำการล้างทำความสะอาด ดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ในพื้นที่ที่คาดว่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งแนะนำการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ประชาชน

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีมาตรการ ดังนี้

1. ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึก ที่ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล

2. พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

3. สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ที่โรงพยาบาลตากสิน , โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ , โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดฯ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น

ในขณะเดียวกัน ควรงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 65 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และยกระดับมาตรการตามความเข้มข้นของค่าฝุ่น PM 2.5 ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น และมาตรการเชิงรุก เพื่อควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการล้างทำความสะอาด ดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มความถี่ในพื้นที่ที่คาดว่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะสูงเกินมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร กำหนดจัดประชุมเพื่อติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฯ วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในช่วงปลายเดือนเม.ย. นี้

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานของปี 66 ซึ่งจะได้มีการประกาศแผนฯ ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ พร้อมประสานส่งแผนฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน เป็นการเตรียมพร้อมในการติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดฝุ่น อีกทั้งเป็นการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน รองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top