กมธ. แนะ รฟม.ตรวจสอบให้รอบคอบหากจะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่อีกรอบ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.วันนี้ ได้พิจารณาเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้ล้มประมูลไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ล่าสุด มีความพยายามที่จะเปิดประมูลใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังมีคดีความที่น่าสนใจ และต้องพิจารณาต่อไปว่าหากเปิดประมูลไปแล้วมีการเพิกถอนหรือฟ้องร้องเป็นคดีอีกครั้ง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะสามารถดำเนินการที่จะนำไปสู่การเดินรถได้หรือไม่

เนื่องจากการเดินรถจากมีนบุรีไปศูนย์วัฒนธรรมนั้น ขณะนี้กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ปัญหา คือ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้ประมูลรายใหม่ต้องเดินรถตั้งแต่มีนบุรีไปจนถึงบางขุนนนท์ แต่ขณะนี้การดำเนินงานโดย รฟม. มีแค่การเดินรถจากมีนบุรีถึงศูนย์วัฒนธรรมเท่านั้น โดย กมธ.มีความเห็นว่าให้ รฟม.ทบทวน และดำเนินการตรวจสอบให้มีความรอบคอบ เนื่องจากหากมีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาออกมาในอนาคต อาจจะต้องเป็นโมฆะอีกครั้ง

ทั้งนี้ กมธ.ยังได้สอบถามไปที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าหากก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ทันภายในปี 68 ประเทศชาติจะต้องเสียค่าเสียหายประมาณ 42,000 ล้านบาท และส่งผลต่อการเดินทางกับผู้ที่อยู่คอนโดมิเนียมบริเวณนั้น

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า กมธ. ยังได้พิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ที่มีหุ้นอยู่ในบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งกมธ.ได้ให้ข้อสังเกตและติดตามตรวจสอบว่า การควบรวมนั้นสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีเรื่องเงินที่เกี่ยวข้องกับกองทุนส่วนราชการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ส่วนกรณีท่อก๊าซของ บมจ. ปตท. (PTT) ที่บริเวณข้าง สภ.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่เกิดระเบิดเมื่อปลายปี 63 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีความคืบหน้าว่า ปตท. จำเป็นที่จะต้องชี้แจงด้วยเอกสารว่าท่อก๊าซที่ฝังอยู่บนถนนกว่า 4,000 กม. มีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และจะดำเนินการแบบไหนอย่างไร เนื่องจากหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ และข้อมูลยังย้อนแย้งกัน โดยส่วนหนึ่งบอกว่าท่อระเบิดจากข้างใน แต่อีกส่วนหนึ่งบอกว่ามีคนทำให้ระเบิด แต่ไม่ว่าจะเกิดแบบใดก็ตาม ประชาชนอยู่ในความเสี่ยง โดย กมธ.และฝ่ายค้านจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ กมธ.ยังได้พิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนกรณีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไปทำสัญญากับเอกชน และถูกกล่าวหาว่าไม่มีใบสัญญาสัมปทาน และมีความพยายามที่จะวิ่งคดี ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และจ.พังงา พบว่าหลายบริษัทไม่มีใบสัมปทาน และมีคดีถูกฟ้องร้องที่ศาลภูเก็ตไปเรียบร้อย จากนั้นก็ไปขอออกใบสัมปทาน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอติดตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top